มช. อัญเชิญ “พระพุทธพิงคนคราภิมงคล” ร่วมขบวนสรงน้ำพระ ปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ บนรถบุษบก “สืบสาย ลายสาน สังขานต์ล้านนา” 13 เม.ย. 68 นี้

มช. อัญเชิญ “พระพุทธพิงคนคราภิมงคล” ร่วมขบวนสรงน้ำพระ ปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ บนรถบุษบก “สืบสาย ลายสาน สังขานต์ล้านนา” 13 เม.ย. 68 นี้
 

  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อัญเชิญ “พระพุทธพิงคนคราภิมงคล” พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมในขบวนรถบุษบกพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ สืบสานประเพณีปี๋ใหม่เมืองล้านนา ในวันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน 2568 โดยประดิษฐานอย่างสง่างามบนรถบุษบก “สืบสาย ลายสาน สังขานต์ล้านนา” ที่ออกแบบอย่างวิจิตรบรรจงและสร้างสรรค์ ด้วยงานหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่จากภูมิปัญญา ผสานความศรัทธาเข้ากับงานศิลป์ เพื่อเชิดชูคุณค่างานช่างล้านนา 

        รถบุษบกของ มช. เป็นขบวนที่ 17 โดยจะเริ่มตั้งขบวนแห่ เวลา 14.09 น. ณ บริเวณใกล้ปั้มน้ำมันบางจาก (เอสโซ่เดิม) ถนนเจริญเมือง เวลา 14.30 น. เริ่มเคลื่อนขบวนไปทางสะพานนวรัตน์ผ่านประตูท่าแพ แล้วสิ้นสุดขบวนแห่ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เวลาประมาณ 18.00 น.??

        รถบุษบก “สืบสาย ลายสาน สังขานต์ล้านนา” ออกแบบโดย สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มช. ด้วยแนวคิดที่ว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่เมือง ชาวล้านนามักจะทำการสักการะบูชา และขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูป พระสงฆ์ และผู้อาวุโสที่นับถือ เพื่อแสดงถึงความเคารพและศรัทธา โดยประดิษฐ์เครื่องสักการะด้วยความประณีตบรรจงจากดอกไม้ หมาก พลู เป็นชุดเครื่องสักการะ เช่น สุ่มดอก หมากสุ่ม พลูสุ่ม ฯลฯ

        ขบวนรถสงกรานต์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ 2568 นี้ จึงนำรูปแบบของสุ่มดอก หนึ่งในเครื่องสักการะล้านนา มาประดับในขบวนรถ โดยทำสุ่มดอกหลวงจากหัตถกรรมไม้ไผ่สาน เพื่อเชิดชูงานหัตกรรมพื้นบ้าน ให้สาธารณชนได้เห็นถึงการนำงานศิลปกรรมล้านนามาสร้างสรรค์และใช้งานอย่างเหมาะสม ภายในสุ่มดอกหลวงตกแต่งด้วยดอกไม้สดหลากสี

       “สืบสาย ลายสาน สังขานต์ล้านนา” มีการนำงานภูมิปัญญาด้านหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่ มาใช้เป็นวัสดุหลักของส่วนประกอบสำคัญ เพื่อนำเสนอคุณค่าของงานช่างล้านนา เน้นการใช้วัสดุจากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ Eco-Green ซึ่งเป็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเน้นตัวบุษบกปราสาทประดิษฐานพระพุทธพิงคนคราภิมงคลเป็นหลัก ส่วนเครื่องสักการะประกอบอื่นๆ เช่น ขันดอกจักสานขนาดใหญ่ รวมไปถึงส่วนประดับตกแต่งต่างๆ ส่วนใหญ่ทำจากไม้ไผ่สาน มีพญานาค ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการให้น้ำ ประกอบขนาบด้านข้างของตัวรถ พร้อมทั้งเทวดา 2 ตน สวมเครื่องทรงแบบล้านนา คอยรับน้ำสรงจากพุทธศาสนิกชน หน้าตัวรถประดับป้ายข้อความ รถบุษบกพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “สืบสาย ลายสาน สังขานต์ล้านนา”

         ในส่วนของขบวนแห่ประเพณีสงกรานต์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย ป้ายมหาวิทยาลัย ขบวนผู้บริหารมหาวิทยาลัย สำนัก สถาบัน ขบวนช่างฟ้อนและนักดนตรีของชมรมพื้นบ้านล้านนา ขบวนช่อช้าง รถบุษบกอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามด้วยกลุ่มคณะ สำนัก สถาบันต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งขบวนชาว มช. กว่า 500 คน จะพร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองเข้าร่วมขบวนอย่างสวยงาม โดยระหว่างขบวนจะมีการบรรเลงปี่แนประยุกต์ สร้างสีสันในบรรยากาศปี๋ใหม่เมือง 

         ขบวนแห่พระพุทธรูปในเทศกาล “ปี๋ใหม่เมือง” เป็นหนึ่งในไฮไลต์สำคัญของเชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยเทศบาลนครเชียงใหม่ ในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เปิดโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ร่วมสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญจากวัดต่างๆ อย่างใกล้ชิด ในบรรยากาศที่เปี่ยมด้วยศรัทธาและวัฒนธรรม

        นอกจากจะเป็นช่วงเวลาแห่งความชุ่มฉ่ำ เทศกาลปี๋ใหม่เมืองยังถือเป็นการเปลี่ยนผ่านปีตามแบบล้านนา ผู้คนจะใช้น้ำส้มป่อยชำระล้างสิ่งไม่ดีออกไป และเริ่มต้นสิ่งดีๆ ด้วยการทำบุญ สรงน้ำพระ 

        ขอเชิญชวนชาวเชียงใหม่และผู้มาเยือนทุกท่าน สัมผัสความงดงามของขบวน มช. และร่วมสืบสานประเพณีอันทรงคุณค่าของชาวล้านนาทุกยุคสมัยนี้ไปด้วยกัน

 
เผยแพร่เมื่อ 10 เมษายน 2568 • การดู 85 ครั้ง
 
ย้อนกลับ