รูปแบบของเรือนพัฒนามาจากเรือนพื้นถิ่นที่เป็นเรือนเครื่องผูกแบบเรือนเดี่ยว ลักษณะของเรือนเป็นเรือนจั่วแฝดที่สร้างด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งหลัง ตัวเรือนยกพื้นสูง มีบันไดขึ้นทางด้านหน้าและหลังเรือน ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินขอ สองจั่วหลักเชื่อมต่อกันโดยมีฮ่อมลิน (ชานเดิน) ระหว่างเรือนสองหลัง เป็นแนวทางเดินระหว่างเรือนนอนยาวจากพื้นที่เติ๋นไปยังด้านหลังเรือน เหนือฮ่อมลินเป็นฮางลิน (รางระบายน้ำฝน) ในจุดเชื่อมต่อระหว่างชายคาสองจั่ว ชายคาด้านหน้ายื่นยาวเหนือกว่าเรือนพื้นถิ่นโบราณโดยยื่นออกมาคลุมพื้นที่เติ๋น (ชานร่ม) และจาน (ชานแดด) ไว้ทั้งหมด โครงสร้างเป็นระบบเสาและคาน ใช้การประกอบแบบเจาะช่องสอดเข้าเดือย บาก พาดผนังเรือน ปูพื้นด้วยไม้แป้น (ไม้แผ่น) โดยมีการยกระดับพื้นห้องนอนและเติ๋นมาหนึ่งระดับเพื่อแบ่งพื้นที่ใช้สอย อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์ในการนั่งตรงบริเวณจุดต่างระดับของพื้นอีกด้วย
เดิมเป็นเรือนของพ่อน้อยปิงและได้ตกทอดมาถึง นางขาล ตาคำ เรือนพื้นถิ่นจากอำเภอแม่แตงหลังนี้ปลูกสร้างครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๐ ที่บ้านป่าไผ ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัด เชียงใหม่ และได้รับการสนับสนุนการรื้อถอนและย้ายมาปลูกของมูลนิธิจุมภฏ - พันธ์ทิพย์ เพื่อมาปลูกสร้างที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑