เรือนพื้นบ้านล้านนา(อุ๊ยแก้ว)

เรือนพื้นบ้านล้านนา(อุ๊ยแก้ว)
 

ชานหน้าเรือนนอนยกระดับเป็นเติ๋น โครงสร้างเรือนเป็นระบบเสาและคาน แต่เนื่องมาจากเครื่องผูกที่ใช้ยกใต้ถุนเตี้ย จึงทำให้เรือนลักษณะนี้เตี้ยตาม ทำให้ประหยัดไม้โครงสร้าง ระบบโครงสร้างรับพื้นเรือนเป็นระบบการบากเสาและฝากคานแล้วปูตงและพื้นไม้แผ่น พื้นเรือนปูตามแนวขวาง เป็นยุคสมัยที่เริ่มนิยมใช้ตะปูในการยึดประกอบโครงสร้างมากขึ้นเพราะสร้างได้รวดเร็ว ในยุคนี้มีการทำฝาไหล (ช่องเปิดผนังเลื่อน) ใช้กันอย่างแพร่หลาย นิยมใช้ฝาขี้หล่าย (ฝาไม้ไผ่สาน) มาประกอบเรือนเหมือนเรือนโบราณ โดยเฉพาะส่วนครัว เพื่อการระบายอากาศที่ดีและประหยัด เรือนในยุคนี้มีการปรับปรุงระบบการมุงหลังคา เชื่อมจั่วหลายจั่ว เพื่อคลุมพื้นที่ใช้งานในเรือนที่มากขึ้น หลังคาเรือนยุคนี้มีความชันลดลง เนื่องจากนิยมปูหลังคาด้วยกระเบื้องซีเมนต์ขนาดใหญ่ทำให้กันฝนได้ดีขึ้น เรือนรูปแบบนี้ส่วนใหญ่สร้างเพื่อเน้นการใช้สอยให้เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของชนชั้นกลาง

จากชานหน้าบ้านถัดเข้าไปเป็นส่วนที่เรียกว่า “เติ๋น” คือพื้นที่ยกสูงกว่าชานบ้าน มีความกว้างเท่ากับตัวเรือน เป็นบริเวณสารพัดประโยชน์สำหรับสมาชิกในครัวเรือนได้มานั่งทำกิจกรรมร่วมกัน เติ๋นด้านที่ติดกับบันไดต่อจากชานบ้านทางฝั่งขวาของเรือน จะทำฝาจากไม้ซี่ให้มองลอดได้ เลยจากไม้ซี่มีหิ้งทำจากไม้แผ่นใหญ่ สำหรับวางหม้อน้ำได้ ๒ - ๓ ใบ ใส่น้ำสะอาดให้คนในเรือนและแขกได้ดื่มกิน เติ๋นฝั่งซ้ายของเรือน จะตีฝาด้วยไม้ เป็นแบบที่เรียกว่า “ฝาเกล็ด” คือฝาไม้เนื้อแข็งตีเป็นแผ่นยาวตามแนวกว้างและยาวของเรือน ฝาด้านหน้าเรือนมีหน้าต่างแบบลูกฟัก ๒ บาน เรียกว่า “ป่อง” (หน้าต่าง) ซึ่งหน้าต่างนี้ สมัยก่อนจะทำเพียงเจาะช่องไว้ไม่ใส่บานหน้าต่าง ส่วนด้านข้างมีหิ้งพระ โดยเจาะฝาเป็นช่องแล้วตีไม้เป็นกรอบสี่เหลี่ยมให้ยื่นออกไปนอกตัวเรือน หากมองจากภายนอกจะเห็นเหมือนมีกล่องไม้ติดกับฝาเรือน หิ้งพระนี้กล่าวกันว่า สมัยก่อนไม่นำมาไว้ในบ้าน เนื่องจากคนล้านนาในอดีตเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งดีงามเช่นพระพุทธรูป สมควรอยู่แต่ภายในวัดเท่านั้น หากแต่จะมีการสร้างหิ้งสำหรับบูชาผีปู่ย่า ซึ่งมีไว้เพื่อบูชาบรรพบุรุษของตน แต่เมื่อความเชื่อเปลี่ยนไปตามกาลสมัย หิ้งพระจึงกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของเรือนล้านนาไป คาดว่าคงมานิยมกันเมื่อ ๗๐ - ๘๐ ปีที่ผ่านมา

เมื่อเราเดินขึ้นไปต่อจากเติ๋น ตรงกลางเรือนจะมีทางเดินยาวไปถึงหลังเรือนเรียกว่า “ชานฮ่อม” ห้องทางซ้ายจะเป็นเรือนนอน เรือนนอนนี้จะมีประตูเปิดออกสู่เติ๋น ภายในเรือนนอนมีหน้าต่างเพียงบานเดียว ส่วนห้องขวามือเป็นเรือนครัวซึ่งมีประตูติดกับชานฮ่อม มีพื้นที่เท่าๆ กับเรือนนอน จากห้องครัวไปทางหลังเรือนจะมีส่วนประกอบที่เพิ่มเติมจากเรือนโบราณคือห้องน้ำ ส่วนนี้จะตีฝาด้วยไม้บั่ว (ไม้ไผ่) สาน ซึ่งปกติฝาประเภทนี้จะใช้กับบางส่วนของห้องนอน มีประโยชน์เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ง่าย

สำหรับห้องน้ำนั้น คนล้านนาสมัยก่อนมักจะออกไปทำธุระบริเวณที่มิดชิดนอกบ้าน ส่วนการอาบน้ำก็จะอาบตามแม่น้ำลำคลองหรือจากบ่อ สมัยต่อมาจึงมีการสร้างต้อมน้ำ คือที่กำบังอาบน้ำ เป็นห้องสร้างไว้นอกตัวบ้าน อาจทำให้เป็นซุ้มหรือก่ออิฐถือปูนก็ได้ จากนั้นมาจึงมีการนำห้องน้ำมาไว้ในตัวบ้านตามสมัยนิยม เมื่อมีการนำเรือนอุ๊ยแก้วมาตั้งไว้ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม อุปกรณ์ในห้องน้ำของเรือนได้ถูกปรับปรุงตามอย่างปัจจุบัน

เรือนอุ๊ยแก้วนี้ยังมีส่วนประกอบของเรือนที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากเรือนแบบโบราณบางส่วน แต่โดยรวมแล้วก็เป็นเหมือนเรือนอื่นๆ คือ มีเรือนชาน เติ๋น เรือนนอน เรือนครัว ตามอย่างเรือนล้านนาขนาดเล็ก เฮือนอุ๊ยแก้วจึงมีคุณประโยชน์มากต่อการศึกษาด้านพัฒนาการของสถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตท้องถิ่นล้านนา

เรือนอุ๊ยแก้ว เจ้าของเดิมคือ อุ๊ยอิ่นกับอุ๊ยแก้ว ธาระปัญญา ชาวบ้านสันต๊กโต หรือย่านสันติธรรม ใกล้กับบริเวณแจ่งหัวลิน ถนนห้วยแก้วในปัจจุบัน เรือนหลังนี้ได้สร้างขึ้นเมื่อ ๗๐ กว่าปีก่อน คือช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒

เมื่อทราบว่าเรือนหลังนี้ มีแนวโน้มจะถูกรื้อถอน อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ จึงติดต่อขอซื้อเรือนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ จากการสนับสนุนของมูลนิธิ มร.ยาคาซากิ มหาวิทยาลัยเกียวโตเซกะ โดยเมื่อซื้อเรือนแล้วยังคงให้อุ๊ยแก้วเจ้าของเรือน อาศัยอยู่ในเรือนต่อไป ถึงแม้ว่าลูกหลานจะมาสร้างเรือนใหม่ให้และอุ๊ยอิ่นจะย้ายไปอยู่ที่เรือนใหม่แล้วก็ตาม  แต่ด้วยความรักความผูกพันกับที่อยู่ที่เดิมของตน อุ๊ยแก้วก็ยังคงใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายของตนเอง อยู่บนเรือนที่ตนรักหลังนี้ จนกระทั่งเสียชีวิตลงเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ จึงได้มีการย้ายเรือนมาปลูกสร้างที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 
รูปภาพ
เรือนพื้นบ้านล้านนา(อุ๊ยแก้ว)
เรือนพื้นบ้านล้านนา(อุ๊ยแก้ว)
เรือนพื้นบ้านล้านนา(อุ๊ยแก้ว)
เรือนพื้นบ้านล้านนา(อุ๊ยแก้ว)
เรือนพื้นบ้านล้านนา(อุ๊ยแก้ว)
เรือนพื้นบ้านล้านนา(อุ๊ยแก้ว)
เรือนพื้นบ้านล้านนา(อุ๊ยแก้ว)
เรือนพื้นบ้านล้านนา(อุ๊ยแก้ว)
เรือนพื้นบ้านล้านนา(อุ๊ยแก้ว)
 

แบบสถาปัตยกรรม

 

ดาวน์โหลดไฟล์ PDF

 
 
เผยแพร่เมื่อ 16 ตุลาคม 2562 • การดู 17,050 ครั้ง