เรือนกาแลส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเรือนแฝด หันหน้าเรือนไปทางทิศใต้หรือทิศเหนือ ประกอบด้วยเรือนสองหลังมีชายคาชนกัน จุดเชื่อมต่อของชายคามีฮางลิน (รางระบายน้ำฝน) ใต้ฮางลินเป็นฮ่อมลิน คือชานเดินระหว่างเรือนสองหลังซึ่งเชื่อมต่อชานด้านหน้าและหลังเรือน เรือนหลังใหญ่มักถูกใช้เป็นเรือนนอน ส่วนเรือนหลังเล็กเป็นเรือนครัว ไม่มีส้วม (ห้องน้ำ) บนเรือน บริเวณพื้นที่เรือนนอกห้องเรียกว่าเติ๋น (ชานในร่มยกระดับ) เป็นพื้นที่ทำงานพักผ่อน และเป็นที่นอนของลูกชายเจ้าของเรือนเมื่อเริ่มโตเป็นหนุ่ม มีผนังเรือนที่เป็นระนาบเดียวกันมาจากห้องนอนมาที่เติ๋น เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวเมื่อเวลาที่ลูกสาวเจ้าของเรือนนั่งทำงาน เรียกว่าฝาลับนาง เราจะเห็นภาพยามค่ำหญิงสาวจะออกมานั่งปั่นฝ้ายพลางส่งคำคร่าวคำเครือกับหนุ่มผู้มาติดพัน เห็นภาพครอบครัวนั่งกินข้าวล้อมวงกันครบหน้า เห็นการนั่งสนทนาของเจ้าบ้านกับแขกเหรื่อมีถาดใส่หมาก และมูลี (บุหรี่) ขี้โยมวนโต ช่วยสร้างความเป็นกันเอง และแสดงน้ำใจอันดีงาม เมื่อแรกเดินขึ้นเรือนโดยบันไดด้านหน้า จะพบกับชานบ้านหรือที่คนเมืองเรียกว่าชานฮ่อม ด้านซ้ายมือมีฮ้านน้ำ (ร้านน้ำ) เป็นชั้นไม้ยกระดับติดกับข้างฝา แยกเป็นสัดส่วนกับชานบ้าน สำหรับตั้งหม้อดินบรรจุน้ำดื่มสำหรับผู้อาศัยและแขกเหรื่อได้ดื่มกิน ร้านน้ำนี้เจ้าของบ้านบางหลังจะสร้างตั้งไว้ตรงหน้ารั้วบ้านด้วย เพื่อให้เพื่อนบ้านและคนที่ผ่านไปมาได้แวะดื่มน้ำยามกระหายจากการเดินทาง ใต้หลังคาเรือนกาแลสูงโล่งเนื่องจากไม่มีเทิง (ฝ้าเพดาน) ทำให้การระบายอากาศร้อนออกไปจากพื้นที่ใช้งานบนเรือนได้ดี นิยมทำควั่น (โครงสร้างไม้หรือไม้ไผ่สานสำหรับการเก็บของ เช่น น้ำต้น) ที่ตรงระดับเทิง เหนือเสาเรือนมีขัวหย้าน (ไม้สะพานสำหรับขึ้นไปเหยียบซ่อมแซมหลังคา) เป็นไม้เนื้อแข็งหรือลำไม้ไผ่คู่ประกบเสาดั้งช่วยยึดโครงหลังคาส่วนหนึ่ง ส่วนใต้หลังคาระหว่างบริเวณเติ๋นและห้องนอนถูกกั้นด้วยแหนบเติ๋น (ผนังจั่วใต้หลังคา) ซึ่งเป็นโครงสร้างผืนเดียวกันกับฝาผนังห้องนอนด้านหน้าและประตูเข้านอน ประตูห้องนอนมีแซ่ว (ดานหรือกลอน) อยู่ด้านในกรอบประตูห้องนอน เหนือกรอบประตูมีของตกแต่งและนับเป็นเครื่องรางประจำเรือนเรียกว่า “หำยนต์” ส่วนกรอบประตูบนพื้นด้านล่างมีไม้กั้นให้ก้าวข้ามเรียกว่า ข่มตู๋ (ธรณีประตู)
โครงสร้างพื้นแนวกลางของเรือนเป็นแนวไม้แป้นต้อง ซึ่งเป็นไม้แผ่นขนาดกว้างพอสะดวกเดิน หนาเท่าตงวางพาดบนหัวเสาป๊อก (เสาสั้น เสริมใต้คานบริเวณกลางแนวคานที่รองรับพื้นเรือน) ยาวจากประตูห้องนอนไปถึงเชิงผนังห้องอีกด้าน ทำไว้เพื่อใช้เดินไม่ให้เกิดเสียงดังรบกวนผู้อื่นเวลานอน เพราะโครงสร้างของพื้นส่วนนี้แยกส่วนการถ่ายน้ำหนักออกจากพื้นเรือน ส่วนบันไดทางขึ้นพาดต่อกับชานแดดหน้าเรือน เรือนกาแลบางหลังมีการสร้างหลังคาคลุมบันไดเพื่อกันแดดฝน และอาจคลุมถึงฮ้านน้ำ ทำให้เรือนหลายหลังมีเสารับโครงสร้างหลังคาขนาบบันได เสาข้างบันไดด้านหน้าสุดเรียกว่าเสาแหล่งหมา ใช้ผูกสุนัขเพื่อเฝ้าเรือน โครงสร้างเรือนกาแลเป็นระบบเสาและคาน สร้างด้วยไม้สัก เสาเรือนถากเป็นทรงกระบอกหรือเป็นแปดเหลี่ยม เรือนหนึ่งหลังประกอบด้วยหกคู่ไม่รวมเสาป๊อก และมีเสาที่ชานหน้าเรือนอีกอย่างน้อยแปดคู่ไม่รวมเสาป๊อกเช่นกัน เสารับพื้นจะเจาะช่องใช้แวง (รอด) สอดแล้วพาดตง ก่อนปูพื้นไม้แผ่นตรงแนวหน้าแหนบ (หน้าจั่ว) ของเรือน ทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีเสาดั้งที่สูงขึ้นไปรับแป๋จ๋อง (อกไก่) ส่วนบริเวณหัวเสาที่ไม่มีหน้าแหนบจะมีตั่งโย (จันทัน) ตรงแนวจั่ว เพื่อรับน้ำหนักของกระเบื้องมุงหลังคา ไม้ก้านฝ้า (ไม้ระแนง) ไม้ก๋อน (กลอน) และ คาบ (แปลาน) ที่ถ่ายน้ำหนักตามลำดับมาลงที่หัวเสา ผืนหลังคาเรือนลาดชันประมาณ ๔๕ องศา เพื่อการระบายน้ำฝนที่ดี ชายคาตรงแนวเสามียางค้ำ (ค้ำยัน) เป็นโครงสร้างรับน้ำหนักจากชายคาลงสู่เสา บริเวณตีนแหนบ (ฐานหน้าจั่ว) มีแง็บ (ชายคาปีกนก) ทั้งด้านหน้าเรือนและหลังเรือน ช่วยกันแดดฝนได้มาก ฝาแหนบนิยมประกอบขึ้นด้วยรูปแบบฝาตาฝ้า (การเข้าไม้แบบฝาประกน) ฝาเรือนด้านสกัดมีระนาบตั้งตรง ส่วนฝาเรือนด้านข้างเป็นฝาตาก (ผายออก) เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย เช่น การทำชั้นวางของ ทำให้พื้นที่ภายในเรือนโล่ง ช่วยลดขนาดผืนผนังและโครงสร้างผนังช่วยค้ำจุนโครงสร้างชายหลังคาได้อีกส่วนหนึ่ง ฝาผนังนิยมฝาแป้นหลั่น (การตีไม้แผ่นตามแนวตั้ง) มีระแนงไม้ตีปิดยาวตลอดแนวต่อระหว่างแผ่นเหมือนเช่นรูปแบบฝาสายบัวของเรือนภาคกลาง
เอกลักษณ์ของเรือนที่โดดเด่นคือ “กาแล” ตรงส่วนยอดของป้านลมที่ไขว้กันเป็นทรงตรงหรือโค้งมีการแกะสลักอย่างงดงามเป็นลายเครือเถา ลายกนกสามตัว หรือลายเมฆไหล สำหรับที่มาของกาแลหรือส่วนป้านลมที่ไขว้กันนี้ ยังค่อนข้างคลุมเครือ บ้างก็ว่าทำเพื่อกันแร้งกามาจับเกาะหลังคา เพราะถือว่าขึด หรือบ้างว่าพม่าบังคับให้ทำเมื่อสมัยเป็นเมืองขึ้นเพื่อให้ดูต่างกับเรือนพม่า อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ ตั้งข้อสันนิษฐานว่า กาแลน่าจะมาจากประเพณีของคนลัวะที่ฆ่าควาย เพื่อบวงสรวงบรรพบุรุษ แล้วนำเขาควายไปประดับยอดหลังคาเป็นการอวดถึงฐานะความร่ำรวย ที่สุดจึงทำกาแลขึ้นแทนเขาควาย
จากหลักฐานการศึกษารูปแบบบ้านในเอเชียหลายแห่งพบว่า ลักษณะการประดับจั่วบ้านด้วยไม้ หรือเขาสัตว์ไขว้กันนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เช่น ในเกาะสุมาตรา สิงคโปร์ ชวา รัฐอัสสัมในอินเดีย และศาลที่สถิตดวงพระวิญญาณของจักรพรรดิในญี่ปุ่น กาแลจึงเป็นวิวัฒนาการของการสร้างเรือนที่มีปั้นลมไขว้กัน เพราะสร้างได้สะดวกทำให้ยึดไม้ได้ แข็งแรง ต่อมาจึงแกะสลักลวดลายให้สวยงาม ดังนั้นรูปแบบของป้านลมที่ไขว้กันนี้จึงถือเป็นลักษณะร่วมกันในเรือนของชนชาติต่างๆ มิใช่เป็นของชาติใดโดยเฉพาะ ดังที่มักเข้าใจกันว่าเป็นลักษณะของเรือนล้านนาเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของกาแลล้านนาก็คือ ลายสลัก ซึ่งเรือนอุ๊ยผัดนี้ก็มีกาแลที่สลักลายเป็นแบบกนกสามตัว ประกอบด้วยโคนช่อกนกมีกาบหุ้มซ้อนกันหลายชั้น คล้ายก้านไม้เถาตามธรรมชาติ ตรงส่วนก้านจะสลักเป็นกนกแตกช่อขึ้นไปสลับหัวกันจนถึงยอดกาแล สร้างลวดลายที่อ่อนช้อยแสดงถึงภูมิปัญญาเชิงช่าง และจิตใจที่อ่อนโยนของผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง
เรือนกาแลหลังนี้ เจ้าของผู้อาศัยเดิมคือ อุ๊ยผัด โพธิทา เป็นคนตำบลป่าพลู อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เรือนจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เฮือนอุ๊ยผัด” สันนิษฐานว่าตัวเรือนสร้างขึ้นกว่า ๘๐ ปีแล้ว เป็นเรือนยกพื้นที่ทำจากไม้ทั้งหลัง ขนาดของบ้านก็ดูกระทัดรัด ด้วยความกว้างราว ๗ เมตร ส่วนความยาวจากเสาต้นแรกตรงบันไดถึงชานหลังบ้าน ประมาณ ๑๒ เมตร หลังคามุงด้วย “แป้นเกล็ด” หรือกระเบื้องไม้ หากลองเดินไปรอบๆ จะเห็นเสาบ้านค่อนข้างมาก นับได้ถึง ๔๘ ต้น โดยรวมแล้วมีสภาพค่อนข้างดี อันเนื่องมาจากการซ่อมแซมหลังการขนย้ายมาปลูกสร้างไว้ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๒๕๓๖