ด้านข้างของเรือนกาแลพญาวงศ์ มีสิ่งปลูกสร้างและเป็นของคู่กันมากับเรือนด้วย นั่นคือ หลองข้าว (ยุ้งข้าว) หลองข้าวนี้ตั้งอยู่บนเสาไม้ขนาดใหญ่ สูงประมาณ ๓ เมตร ไม่มีบันไดขึ้น ใช้เสาไม้ถึง ๑๔ ต้น มีความกว้างราว ๑.๕ เมตร และยาวเกือบ ๑๐ เมตร ส่วนบนของฝาโดยรอบ ทำเป็นซี่ไม้นำมาไขว้ต่อกันอย่างงดงาม เป็นการนำศิลปะมาใช้ประโยชน์ได้อย่างดี หลองข้าว ถือเป็นหน้าตาของเจ้าของบ้านอีกประการหนึ่ง กล่าวกันว่า หลองข้าวบ้านใครมีขนาดใหญ่ แสดงว่าเจ้าของบ้านมีฐานะที่มั่นคง เช่นเดียวกับคติการพิจารณาความขยันของคนในบ้าน จากจำนวนของไม้หลัว (ไม้ผ่าเป็นซีกใช้ทำฟืน) หากมีเป็นจำนวนมากวางเรียงไว้เต็มใต้ถุนบ้าน ก็แสดงว่า เจ้าของบ้านเป็นคนขยันน่ายกย่อง
หลองข้าวนี้ถูกนำมาปลูกสร้างไว้ข้างเรือนกาแลพญาวงศ์ บริเวณสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๒ โดยได้รับการสนับสนุนการซ่อมแซมและต่อเติมให้สมบูรณ์ จากคุณแจ่มจิตต์ เลาหวัฒน์ และ บุตรธิดา ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์ในการศึกษาเรือนโบราณล้านนา
ในความทรงจำของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่าขานว่า สมัยที่เรือนนี้สร้างขึ้นใหม่ ๆ มักมีผู้คนไปมาหาสู่กันมากมาย จวบจนปัจจุบัน แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านร้อนหนาวมานานเต็มที แต่เรือนกาแลพญาวงศ์และหลองข้าววิชัย เลาหวัฒน์ ก็ยังคงสง่างามเคียงคู่กันอยู่ ณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่