การทำเทียนโบราณล้านนา
วัสดุอุปกรณ์
1.ขี้ผึ้ง
2.ฝ้าย
3.มีดสำหรับผ่าเทียน
4.กรรไกร
คนล้านนามักจะจุดเทียนในโอกาสสำคัญเช่น วันปีใหม่เมือง(สงกรานต์) จะจุดเทียนสามอย่างด้วยกัน เทียนลดเคราะห์ สืบชะตา รับโชค มีอยู่ด้วยกัน 3 เล่ม - ลดเคราะห์ ให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ให้มีอุบัติเหตุ ไม่ให้มีอุบัติภัย - สืบชะตา ให้อายุยืน - รับโชค ให้มีโชคลาภ เทียนน้ำบ่อทรายคำ เป็นเทียนที่คนนำไปบูชาเพื่อให้เกิดความชุ่มเย็น อยู่เย็นเป็นสุข มั่งมูล ไม่มีเรื่องเดือดร้อนใจ เทียนหนูกินน้ำนมแมว ตำรานี้เป็นตำราของวัดเชียงมั่น เป็นเทียนเมตตามหานิยม เทียนเศรษฐีทั้งห้า หรือปัญจมหาเศรษฐี ประกอบไปด้วย 5 ประการของมหาเศรษฐี 1.เศรษฐีข้าราชการ มียศถาบรรดาศักดิ์ 2.เศรษฐีเงินทอง 3.เศรษฐีข้าทาสบริวาร 4.เศรษฐีข้าวกล้าบริบูรณ์ 5.เศรษฐีลูกหลาน ครอบครัว เทียนคำ เทียนเมตตาคำ แล้วคลาดปลอดภัย การแก้ดวงที่แตกหัก จากหนักเป็นเบา เทียนเศรษฐีบายคัวเสี้ยงข้าวของ สำหรับคนที่มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ โดนโกง จุดแล้วทรัพย์สินจะกลับมาดังเดิม ในการทำเทียนแต่ละเล่ม จะมีกลวิธีของคาถาแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นคาถาพระพุทธเจ้านำมาเป็นคติความเชื่อสอนใจ รวมไปถึงกลเม็ดของอักขระยันต์ ที่มีการเต้นยันต์ เต้นเทียน แต่ละอักขระจะมีคาถาภาวนากำกับไป ในขณะที่ขีดเส้นจะภาวนา “ยันตั๋ง สันตั๋ง สนธิวิกึงคะเล” แล้วก็เป่าลงไป ทำให้เกิดอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ เทียนพิธีส่วนมากจะไม่ใส่ยันต์ เทียนน้ำมนต์ เทียนเล่มบาท เหมาะแก่การทำพิธี ส่องหน้าพระเจ้า บูชาพระเจ้า เทียนจะมีรูปลักษณ์เรียว สวยงาม ไม่ใหญ่เกินไป เหมาะแก่การใช้ในพิธีสั้นๆ ถือเป็นเทียนเริ่มต้น เทียนสิบสองนิ้ว เป็นเทียนสำหรับพิธีที่มีความยืดยาวขึ้น เช่นเจริญพุทธมนต์ฉบับยาว มักจะมีการใส่ยันต์อักขระลงไป วิธีทำเทียนเก้านิ้ว เทียนน้ำมนต์ เทียนเล่มบาท 1.นำฝ้ายออกมาความยาวประมาณ 1 คืบ หรือ 9 นิ้ว นำมาทบกันพอประมาณ หรือ 2 ทบ 2.นำขี้ผึ้งที่อุ่น มานวดกลึงให้เนื้อเนียน ใช้นิ้วหัวแม่มือบีบไม่ให้เนื้อแตก 3.นำขี้ผึ้งขึ้นรูปทรงตามต้องการ 4.นำฝ้ายที่เตรียมไว้มาทาบทรงวัดระยะ 5.ใช้มีดผ่าลงไปตรงกลางเทียน ให้เป็นร่อง ไม่ให้ขาด 6.คลี่รอยผ่าออก และใช้ฝ้ายฝังลงไป ปิดไส้ฝ้ายให้มิดชิด 7.คลึงให้เรียบเนียน เรียกว่าการสีเทียน 8.วัดให้ได้ระยะ 9 นิ้ว ส่วนใดที่เกินก็ตัดออก 9.ใช้นิ้วกลาง นิ้วชี้ และนิ้วโป้ง บีบเป็นหัวเทียน 10.ทำก้นเทียน ซึ่งต้องมีฐานใหญ่กว่าตัวเทียน และใช้เศษขี้ผึ้งปิดก้นเทียน วิธีการทำเทียนที่มียันต์ 1.เขียนชื่อของตนเองลงบนยันต์ และเลขกำลังวัน ลงบนช่อง 2.นำฝ้ายมาทาบเพื่อทำไส้ ยึดหลักไทใหญ่ “ห้าปั๋นตก หกปั๋นขึ้น” นำฝ้ายทบกัน 6 รอบ 3.ใช้ฝ้ายวางลงไปด้านในยันต์ และพันให้เป็นไส้เทียน ใช้เชือกมัดไม่ให้ไส้เทียนแตก ตัดหัวท้าย ระวังไม่ให้โดนยันต์ เหลือด้านหัวประมาณ 1 นิ้วสำหรับจุด 4.นำขี้ผึ้งออกมานวด และขึ้นรูป ควรมีปลายที่เรียวงาม 5.นำไส้เทียนมาเทียบและตัด 6.ใช้มีดผ่าลงไปตรงกลางเทียน ให้เป็นร่อง ไม่ให้ขาด 7.คลี่รอยผ่าออก และใช้ฝ้ายฝังลงไป ปิดไส้ฝ้ายให้มิดชิด 8.คลึงให้เรียบเนียน เรียกว่าการสีเทียน 9.ใช้นิ้วกลาง นิ้วชี้ และนิ้วโป้ง บีบเป็นหัวเทียน 10.ทำก้นเทียน ซึ่งต้องมีฐานใหญ่กว่าตัวเทียน และใช้เศษขี้ผึ้งปิดก้นเทียน
กิจกรรมอบรมหลักสูตรระยะสั้นด้านหัตถศิลป์ และวัฒนธรรมล้านนาสร้างสรรค์ ภายใต้พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนามีชีวิต แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตล้านนาอย่างสร้างสรรค์ อบรมหลักสูตรระยะสั้นการทำเทียนในพิธีกรรม ในวันที่ 30-31 กรกฏาคม และ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563 โดย สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำและเผยแพร่โดย พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
5 | |
4 | |
3 | |
2 | |
1 |