วิดีทัศน์ล้านนา

การนำเสนอความรู้ด้านสังคม วิถีชีวิต และวัฒนธรรมล้านนาในรูปแบบของสื่อวิดีทัศน์

พบทั้งหมด 16 รายการ
 
 
ต๋ำบ่าโอ - ตำส้มโอ ต๋ำบ่าโอ - ตำส้มโอ
ต๋ำบ่าโอ - ตำส้มโอ
วัตถุดิบหลัก  ส้มโอ   วัตถุดิบ  1. ตะไคร้  2. พริกขี้หนู 3. ผักชีฝรั่ง 4. พลูลิง 5. กระเทียม 6. มะเขือเปราะ เครื่องปรุง น้ำปู๋ กะปิ น้ำอ้อย เกลือ  วิธีทำโดยแกะเนื้อส้มโอเตรียมไว้ เครื่องปรุงประกอบด้วย กระเทียม พริกขี้หนู กะปิ น้ำปู ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำอ้อยหรือน้ำตาล บางแห่งนิยมใส่ปลาร้า ตามใจชอบ นำมาโขลกเข้าด้วยกันพอละเอียด แล้วใส่เนื้อส้มโอ ตะไคร้ซอยซอย มะเขือเปราะซอย ใบผักชีฝรั่งซอย โขลกเบาๆ คลุกเคล้าให้เข้ากัน บางสูตรจะใส่ละมุดดิบปอกเปลือกลงไปด้วยโดยโขลดละเอียดให้เข้ากันกับเครื่องปรุง ข้อมูลอ้างอิง : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่มที่ 5
เผยแพร่เมื่อ 18 สิงหาคม 2564 • การดู 2,809 ครั้ง
เฮือนไทลื้อ หม่อนตุด - พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. (ภาษายอง) เฮือนไทลื้อ หม่อนตุด - พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. (ภาษายอง)
เฮือนไทลื้อ หม่อนตุด - พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. (ภาษายอง)
การเล่าถึงประวัติความเป็นมาของเรือนไทลื้อ (หม่อนตุด) ภายในพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. ซึ่งบรรยายโดยเจ้าของภาษายอง ซึ่งอยู่ในชาติพันธุ์ล้านนา                เรือนหม่อนตุด เป็นเรือนของชาวไทลื้อ ที่สร้างขึ้นจากการผสมผสานระหว่างรูปแบบเรือนไทลื้อกับเรือนแบบไทยวน  โดยกลุ่มชาวไทลื้อจากมณฑลยูนาน  ตอนใต้ของจีนที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ตั้งแต่อดีต  ซึ่งแต่เดิมเรือนหลังนี้เป็นของ นางตุด ใบสุขันธ์ ชาวไทลื้อบ้านเมืองลวง ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่   สร้างเรือนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2460 โดย พ่อน้อยหลวง สามีหม่อนตุดเป็นผู้สร้างขึ้นเอง เริ่มจากการซื้อเรือนไม้เก่าจากบ้านป่าก้าง อำเภอดอยสะเก็ด แล้วใช้ช้างถึง 3 เชือก พร้อมวัวควายที่พ่อน้อยหลวงมีอยู่ไปชักลากมา นำมาสร้างเป็นเรือนไม้ที่มีรูปทรงเรียบง่ายตามแบบเรือนสามัญชน             ปลายปี 2534 อาจารย์ศิริชัย นฤมิตรเรขการ ได้ทราบเรื่องการประกาศขายเรือนของหม่อนตุดจาก ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงตัดสินใจซื้อไว้แล้วมอบให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เพื่อเก็บรักษาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวเชียงใหม่  จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในการอนุรักษ์เรือนโบราณล้านนาและจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับให้คนทั่วไปได้ศึกษา             เรือนหม่อนตุดเป็นเรือนไม้ขนาดกลางมุงหลังคา “แป็นเกล็ด” ลักษณะเป็น “เรือนสองหลังหน้าเปียง” หมายถึงมีเรือนจั่วสองหลังวางต่อกันในระนาบเดียวกัน    องค์ประกอบของเรือน 2 หลัง คือ ห้องด้านตะวันออกเป็น “เฮือนนอน” โล่งกว้าง สำหรับสมาชิกในครัวเรือนจะนอนรวมกันในห้องนี้ โดยใช้ “ผ้ากั้ง” มีลักษณะเป็นเหมือนผ้าม่าน  ใช้กั้นแบ่งเป็นห้องเล็กๆ ตามช่วงเสา  ส่วนเรือนที่อยู่ทางด้านตะวันตกคือ “เฮือนไฟ” หรือห้องครัว อยู่ระดับเดียวกับพื้นเรือนนอน ตรงกลางระหว่างชายคาของเรือนทั้งสองเชื่อมต่อกันทำเป็นรางน้ำฝน เรียกว่า “ฮ่อมริน”  ด้านข้างเรือนไฟทำเป็นระเบียงยาวเชื่อมกับชานหลังบ้าน  มีบันได 2 ด้าน คือที่ชานหน้าและชานหลังบ้าน หน้าเรือนทั้งสองเป็นพื้นที่โล่งไม่มีผนังกั้นเรียกว่า “เติ๋น” เป็นที่ทำงานบ้าน เช่น ทอผ้า ปั่นฝ้าย จักสาน และเป็นที่นั่งพักผ่อนในช่วงเวลากลางวัน  ฝาเรือนด้านตะวันออกของเติ๋นมี “หิ้งพระ” ทำเป็นชั้นวางเพื่อสักการะบูชาพระพุทธรูปหรือเก็บรักษาเครื่องรางของขลัง ถัดจากเติ๋นออกมานอกชายคาคือ  “ชาน”  เป็นพื้นที่ลดระดับลงมาแล้วเชื่อมกับบันไดทางขึ้นเรือน  ด้านข้างชานมี  “ฮ้านน้ำ”  วางหม้อน้ำสำหรับดื่ม   ด้านล่างเป็นใต้ถุนสูง สร้างคอกวัวควายและมีครกมองตำข้าว
เผยแพร่เมื่อ 17 สิงหาคม 2564 • การดู 4,116 ครั้ง
วิธีการทำข้าวต้มถั่วดิน วิธีการทำข้าวต้มถั่วดิน
วิธีการทำข้าวต้มถั่วดิน
  ข้าวต้มถั่วดิน หรือข้าวต้มมัดของคนล้านนา ชาวล้านนานิยมทำกันในช่วงของเทศกาลปี๋ใหม่เมือง เข้าพรรษา ออกพรรษา งานศพ งานบุญต่างๆ เป็นอาหารว่างสำหรับต้อนรับแขกที่มาร่วมงาน และยังเป็นหนึ่งโภชนาหารสำหรับพิธีกรรมต่างๆ ในล้านนาอีกด้วย ข้าวต้มมัด เป็นอาหารประเภทขนม หรือของกินเล่น หรือกินให้อิ่มท้องก็ได้ ทำจากข้าวเหนียว โดยนำข้าวเหนียว(ข้าวสาร) ไปแช่น้ำให้อิ่มตัว หลังจากนั้นสะเด็ดน้ำออก แล้วนำมาห่อด้วยใบตอง ใส่ถั่วลิสงดิบ(ถั่วดิน) หรือกล้วยน้ำว้าก็ได้ เมื่อห่อได้ 2-4 ลูก จึงนำมาห่อรวมกันให้แน่นเป็น 1 มัดอีกครั้ง แล้วนำไปต้มให้สุก นอกจากนี้บางตำรา ในขณะที่ต้มข้าวต้มนั้น มักมีการใส่ชู้ข้าวต้มลงไปด้วย (ชู้ข้าวต้ม เป็นห่อใบตองเปล่า ลักษณะเหมือนข้าวต้มหลอก หรือของปลอม) เชื่อว่าหากไม่ใส่ชู้ข้าวต้มลงไปต้มด้วยแล้ว จะทำให้ข้าวต้มไม่สุก หรือเกิดการเสียหายได้ ข้าวต้มมัด   จัดทำและเผยแพร่โดยพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  
เผยแพร่เมื่อ 15 เมษายน 2564 • การดู 4,798 ครั้ง
สับฟาก สับฟาก
สับฟาก
ฟาก เป็นวัสดุพื้นบ้านที่ได้จากการสับท่อนไม้ไผ่ ใช้ในการทำพื้นหรือผนังในอาคารที่มีอายุการใช้งานไม่ยาวนานมากนัก ไม้ที่นิยมใช้ทำฟากในล้านนาคือไม้ซาง ซึ่งเป็นไผ่นวลที่แก่หรือแก่จัด เลือกตัดไผ่ที่มีลำต้นตรง ให้ท่อนมีความยาวตามความต้องการ แล้วใช้ขวานหรือพร้าปลายตัดสันหนาที่เรียกว่ามีดงกสับที่ข้อให้ห่างกันประมาณ 1 เซนติเมตร เมื่อสับทุกปล้องแล้วจึงใช้มีดหรือขวานแล่งเพียงรอยเดียวตั้งแต่โคนถึงปลาย และแบะท่อนไม้ไผ่สับนั้นหงายลง ใช้มีดหรือขวานถากข้อปล้องด้านในออก และกล่อมคมที่ผิวฟากให้เรียบร้อยแล้วก็อาจนำไปใช้ได้ตามต้องการ เช่น ใช้ปูเป็นพื้นในตูบหรือเรือนเครื่องผูก ใช้ทำเป็นฝาบ้านหรือยุ้งข้าว ใช้กั้นดินหรือทรายที่ฝาย ฯลฯ   
เผยแพร่เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2564 • การดู 6,008 ครั้ง
หลังคาตองตึง หลังคาตองตึง
หลังคาตองตึง
หลังคาตองตึง           หลังคาตองตึง ทำมาจากใบต้นตองตึง คือต้นพลวงในภาษากลาง มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 20 – 30 เมตร เป็นพันธุ์ไม้หลักของป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าเต็งรัง หรือป่าแดง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-600 เมตร            หลังคาตองตึงใช้แพร่หลายในจังหวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะปัจจุบันยังพบเรือนตามชนบทของจังหวัดเชียงใหม่ และแม่ฮ่อนสอน กระบวนการทำหลังคาตองตึงเกิดขึ้นในหน้าแล้งประมาณเดือนธันวาคม – มีนาคม เป็นช่วงที่ใบตองตึงกำลังร่วงเพื่อผลัดเปลี่ยนใบใหม่ โดยตอนเช้าเวลาประมาณ 6.00 – 8.00 น. จะเริ่มเข้าป่าเพื่อไปเก็บใบตองตึงแห้งที่ร่วง ซึ่งในช่วงเช้าของฤดูหนาวหมอกและไอน้ำช่วยให้ใบตองตึงที่แห้งอ่อนตัวลง การคัดเลือกใบไม้ที่ร่วงจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ เพราะในป่ามีพันธุ์ไม้หลากหลาย โดยเฉพาะรูปทรงของใบสัก ใบเหียง ใบตองตึง มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ใบตองตึงที่นำมาใช้ได้ต้องมีขนาดใบค่อนข้างใหญ่ ความกว้างของใบประมาณ 20 เซนติเมตรขึ้นไป ก้านใบแข็ง รูปใบสมบูรณ์ ก่อนที่จะเย็บตองตึง นำใบตองตึงที่เก็บมาฉีดน้ำให้ทั่ว พักไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง – 1 ชั่วโมง จากนั้นนำมาเย็บติดกับก้านไม้ไผ่ความยาวประมาณ 2 – 3 เมตร ด้วยตอกเส้นที่ทำมาจากไม้ไผ่ การติดตั้งหลังคาตองตึงใช้วิธีการมัดด้วยตอก ยึดแกนไม้ไผ่ของตับหลังคาเข้ากับไม้ก้านฝ้า ข้อดีคือมีน้ำหนักเบา เป็นหลังคาที่ระบายอากาศได้ดี ภายในตัวเรือนเย็นสบาย มีอายุการใช้งาน 3 – 5 ปี หากทำกันเองในครัวเรือนก็จะไม่มีค่าใช้จ่าย ปัจจุบันพบเรือนที่ยังมุงหลังคาตองตึงที่บ้านเมืองปอน อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน  
เผยแพร่เมื่อ 5 มกราคม 2564 • การดู 13,688 ครั้ง
ว่าว ว่าวลมของเล่นในวัยเด็ก
ว่าว ว่าวลมของเล่นในวัยเด็ก
ว่าว/ว่าวลม เป็นเครื่องเล่นที่นิยมของเด็ก โดยเฉพาะในหมู่เด็กชายนิยมเล่นกันในช่วงเดือนยี่ สามและสี่ คือตรงกับเดือนสิบสองอ้ายและเดือนยี่ของภาคกลางคือเวลาประมาณเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนมกราคมนั่นเอง ซึ่งในช่วงเวลานี้เป็นช่วงกำลังเกี่ยวข้าวและเสร็จจากการเกี่ยวข้าวแล้ว เด็กผู้ชายก็จะทำว่าวมาชักประกวดแข่งขันกันว่าว่าวของใครสูงและลอยนิ่งอยู่ในอากาศได้ดีที่สุด ว่าวที่เด็กทำขึ้นมีอยู่ 2 แบบ คือว่าวอี่หลุ้ม ซึ่งเป็นว่าวโครงไม้ไผ่ ตรงกับว่าวอีลุ้มคือว่าวชนิดไม่มีหาง และว่าวอี่หาง คือว่าวอย่างเดียวกับว่าวอี่หลุ้ม เพียงแต่มีหางเพิ่มขึ้นเท่านั้น ในการเล่นว่าวนั้น วิธีการเล่นจะแยกไปตามระดับของผู้เล่น ถ้าเด็กเล็กเล่นก็จะเล่นว่าวอี่หาง คือว่าวที่มีหาง เพราะว่าวจะทรงตัวในอากาศได้ดีกว่าว่าวอี่หลุ้ม โดยมักจะให้ผู้ใหญ่นำเอาว่าวผูกกับเชือกที่ไม่ยาวมากนักไปโยงกับไม้แล้วยกตั้งขึ้นให้ลอยล้อลม พอเป็นเด็กระดับโตขึ้นมาอาจจะเล่นว่าวพลิกแพลงกว่า โดยเล่นว่าวอี่หลุ้ม เพราะว่าวมักจะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ต้องคอยดึงเชือกบังคับให้ลอยขึ้นสูง เมื่อมีประสบการณ์บังคับว่าวสูงขึ้นแล้ว ก็มักจะเล่นบังคับว่าวของตนไปตัดสายว่าวของผู้อื่น โดยทำป่านแก้ว คือนำเศษแก้วมาจำให้ละเอียดคลุกกับแป้งเปียกแล้วเอาเชือกว่าวในส่วนที่คาดว่าจะใช้ไปตัดสายป่านว่าวตัวอื่นได้   ข้อมูล : สารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ เล่มที่ 12
เผยแพร่เมื่อ 3 ธันวาคม 2563 • การดู 4,281 ครั้ง
การเปลี่ยนดินขอ การเปลี่ยนดินขอ
การเปลี่ยนดินขอ
การซอนเรือน คือการซ่อมเเซมวัสดุที่ใช้มุงหลังคาเรือน โดยเฉพาะมักซ่อมตอนต้นฤดูฝนหลังจากที่ผ่านลมหลวงปีใหม่ หรือพ้นช่วงพายุฤดูร้อนไปเเล้ว วัสดุมุงหลังคาอาจเสื่อมสภาพ ชำรุดหรือถูกลมพัดเสียหายอันเนื่องจากช่วงปีที่ผ่านไป เมื่อฝนตกเเละรู้ตำเเหน่งที่หลังคารั่วเเล้วจึงจะเริ่มเเก้ไขให้ถูกจุด  ในเรือนที่มุงหลังคาด้วยดินขอหรือกระเบื้องดินเผานั้นกระเบื้องอาจชำรุดเพราะลมหลวงที่พัดผ่าน หรืออาจชำรุดเพราะลูกกง (อ่านว่า "ลูกก๋ง") คือกระสุนจากหนังสติ๊กของเด็ก พอฝนตกเเล้วเเละเห็นตำเเหน่งรอยรั่ว พ่อเรือนจะปีนขึ้นไปเหยียบบนขัวอย้านหรือสะพานหนูซึ่งอยู่ใต้โครงหลังคา เเละดึงเอาเเผ่นกระเบื้องที่ชำรุดออกโยนทิ้งเเล้วเอากระเบื้องที่มักวางกองสำรองอยู่เป็นจุดๆ ตามขัวอย้านสอดเเซมเข้าไป การซอนเรือนนี้อาจทำได้เรื่อยๆ เมื่อเห็นว่าเรือนรั่ว ข้อมูลอ้างอิงจาก : สารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ เล่มที่ 4 
เผยแพร่เมื่อ 4 สิงหาคม 2563 • การดู 3,012 ครั้ง
ตำบ่าม่วง(ตำมะม่วง) ตำบ่าม่วง(ตำมะม่วง)
ตำบ่าม่วง(ตำมะม่วง)
ตำบ่าม่วง คือ ตำมะม่วง โดยเอาผลมะม่วงดิบมาปอกเปลือกออก สับแล้วฝานให้เป็นเส้นบางๆ แล้วนำมาปลาย่าง พริกแห้ง หอม กระเทียม ปลาร้า ทั้งหมดย่างไฟให้สุก นำมาโขลกรวมจนละเอียดดีแล้ว (หรือใช้น้ำพริกตาแดงสำเร็จ) นำน้ำอ้อยลงโขลกด้วย จากนั้นนำมะม่วงลงไปตำคลุกเคล้าจนเข้ากัน ปรุงรสด้วยเกลือหรือน้ำปลาตามใจชอบก็รับประทานได้แล้ว นิยมรับประทานกับใบชะพลู ยอดชะอม หน่อข่า ดอกผักฮ้วน ยอดผักเซียงดา เป็นต้น *บางสูตรอาจใส่กะปิด้วย เครื่องปรุงของตำมะม่วงนี้สามารถใช้กับตำกระท้อน ตำมะยม และตำมะปรางได้ด้วย ข้อมูลจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่มที่๕ หน้า ๒๔๐๙
เผยแพร่เมื่อ 23 เมษายน 2563 • การดู 4,744 ครั้ง
วิธีการรื้อย้ายเรือนโบราณ
วิธีการรื้อย้ายเรือนโบราณ
การรื้อย้ายเรือนที่มีอายุเก่าแก่นั้น เป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อนและต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก  จึงต้องใช้ “สล่า” คือช่างผู้มีความรู้ความชำนาญในการควบคุมดูแลกำกับทุกขั้นตอน เพื่อไม่ให้มีความผิดพลาดอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวเรือน  ก่อนที่จะรื้อย้ายต้องเตรียมการบันทึกรายละเอียดของโครงสร้าง โดยเริ่มจากวัดส่วนประกอบต่างๆ ของตัวเรือนแล้วจึงเขียนแปลนขึ้นมา  เพื่อให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องหลังจากขั้นตอนการประกอบใหม่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งจะช่วยให้ตัวเรือนอยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด ทั้งนี้สล่าจะต้องสำรวจส่วนที่ชำรุดเสียหายและส่วนใดที่มีรายละเอียดมากต้องระวังเป็นพิเศษ เช่น ตรวจดูว่ามี “ยันต์ฟ้าฟีก” หรือ “ยันต์หัวเสา” ของห้องนอนใหญ่หรือไม่  ซึ่งเรือนโบราณส่วนใหญ่จะพบว่ามียันต์ชนิดนี้อยู่   เนื่องจากคนล้านนาเชื่อว่าเป็นยันต์ที่ช่วยปกป้องคุ้มภัยทั้งภัยจากธรรมชาติและภัยจากภูติผีปีศาจทั้งหลาย หากพบยันต์บนหัวเสาแล้ว จะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในการรื้อยันต์ออก   เพื่อไม่ให้ยันต์ชำรุดเสียหายจาการรื้อย้ายได้ ก่อนที่จะเริ่มรื้อถอนเรือน สล่าจะต้องประกอบพิธีขอขมาและบอกกล่าวกับ “ผีหอผีเฮือน” (ผีหอผีเรือน) จากนั้นก็ฉีดพรมน้ำในส่วนประกอบของเรือนที่เป็นไม้ให้ชุ่มด้วยความระมัดระวัง  แล้วทิ้งไว้ประมาณ 20-30 นาที  เพื่อให้เนื้อไม้เกิดการยืดหยุ่นและไม่เปราะแตกขณะที่ถอดชิ้นส่วนต่างๆ ออกจากกัน  เมื่อเตรียมการทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจึงเริ่มรื้อเรือนตามขั้นตอนและวิธีการดังนี้ อันดับแรกรื้อหลังคาออกก่อน หากเป็นกระเบื้องดินขอก็ต้องถอดออกทีละแผ่นอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้แตกหักเสียหาย หากหลีกเลี่ยงความเสียหายไม่ได้อาจนำกระเบื้องใหม่มาทดแทนได้บ้าง เมื่อรื้อกระเบื้องออกทั้งหมดแล้วจึงเริ่มรื้อโครงหลังคาโดยวิธีการยกออกทั้งแผง เพราะหลังคาเรือน โบราณมักทำเป็นเดือยสวมทับกับจั่ว ในการยกจั่วออกอาจใช้รถเครนหรือรถยกเข้าช่วย ถอดฝาเรือนโดยการยกออกทั้งแผง  จากนั้นจึงแกะไม้คร่าวและไม้เชน(เจน) ของฝาเรือนทั้ง 4 ด้านออก แกะไม้พื้นเรือนหรือฝากระดาน โดยค่อยๆ งัดออกจากเดือยไม้ทีละชิ้นอย่างระมัดระวัง ถอดขื่อและแป โดยต้องทำรหัสตัวเลขเป็นเครื่องหมายของไม้แต่ละชิ้นก่อนถอดออก  เพื่อให้ง่ายต่อการนำมาประกอบใหม่ แกะไม้ต๋งและแวง (รอด) ออก โดยต้องทำรหัสไว้ด้วยเช่นกัน ขุดเสาเรือนออก โดยขุดลึกลงไปพอประมาณแล้วรดน้ำลงในหลุม  เพื่อให้ดินที่แข็งอยู่นั้นอ่อนนิ่มเป็นโคลน สะดวกต่อการถอนเสาออก จากนั้นใช้รถเครนยกถอนเสาออกจากหลุมจนครบ ซึ่งการถอนเสาเรือนก็ต้องทำรหัสของเสาแต่ละต้นเช่นเดียวกันกับส่วนประกอบอื่นๆ เพื่อให้นำไปประกอบเรือนใหม่ตามตำแหน่งของเสาเอก  เสานางและเสาบริวารได้อย่างถูกต้อง  
เผยแพร่เมื่อ 3 ธันวาคม 2562 • การดู 6,696 ครั้ง