ศิลปหัตถกรรมล้านนา

งานศิลปกรรมล้านนา ที่แสดงออกถึงภูมิปัญญา และอัตลักษณ์ของความเป็นล้านนา

พบทั้งหมด 13 รายการ
 
 
ฝาลายอำ
ฝาลายอำ
                   ฝาลายอำ คือ ฝาเรือนที่สานด้วยไม้ไผ่ โดยใช้ส่วนผิวไม้ไผ่เหียะ หรือไม้ไผ่เฮียะมาสาน ลักษณะเป็นกอขนาดเล็กถึงกลาง สูงประมาณ 7-12 เมตร ลำปล้องตรง และเนื้อบาง แม้ว่าผิวไม้จะมีขนเล็กๆ ติดตลอดลำต้น แต่เมื่อใช้งานไประยะเวลาหนึ่งผิวจะมันและลื่นกว่าเดิม                     ฝาลายอำเกิดจากเทคนิคการสาน จึงมีช่องว่างระหว่างไม้ไผ่ที่ขัดกัน ช่วยให้ระบายอากาศได้ดี อีกทั้งมีน้ำหนักเบา เหมาะแก่การสร้างเรือนที่มีโครงสร้างขนาดเล็ก แต่ด้วยเนื้อไม้ไผ่มีอายุการใช้งานไม่นานจึงต้องเปลี่ยนฝาลายอำบ่อยเมื่อชำรุด ปัจจุบันมีการดัดแปลงนำมาใช้กับงานเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ฝาลายอำแบบเดิมกลับไม่ได้รับความนิยมในการสร้างผนังเรือน เนื่องจากความเชื่อในเรื่องของความหมาย ของคำว่า “อำ” ที่มีความหมายว่า กั้น ทำให้กีดกั้น การทำมาหากินและกั้นสิ่งมงคลเข้าตัว อีกทั้งไม่ค่อยแข็งแรง ไม่เหมาะกับการใช้งานในระยะยาว จึงไม่นิยมสานฝาลายอำอีกต่อไป แต่กลับมีวิธีการสานอื่นที่ง่ายกว่ามาแทนและเป็นที่นิยมในท้องตลาดทั่วๆ ไป      หนังสือ : หางดง ถิ่นหัตถกรรม เอกสารโครงการสร้างความเข้มแข็งทางศิลปวัฒนธรรมให้กับชุมชน สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  
เผยแพร่เมื่อ 12 พฤษภาคม 2565 • การดู 5,068 ครั้ง
เครื่องเขินในวัฒนธรรมล้านนา
เครื่องเขินในวัฒนธรรมล้านนา
คำว่า “เครื่องเขิน” หมายถึงภาชนะ เครื่องมือ หรือของใช้ ที่ผลิตขึ้นโดยชาวเชียงใหม่ ที่มีเชื้อสายสืบมาจากชาวไทเขินแต่โบราณ คำนี้น่าจะบัญญัติขึ้นโดยคนไทยภาคกลางหรือข้าราชการจากส่วนกลางที่ขึ้นมาอยู่ในภาคเหนือเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว เพราะว่าคำนี้มิได้ปรากฎอยู่ในภาษาพื้นถิ่นของชาวเชียงใหม่ ซึ่งชาวเชียงใหม่แต่เดิมมิได้มีศัพท์เรียกที่จำกัดความเฉพาะเช่นนี้มาก่อน ชาวเชียงใหม่เรียกชื่อภาชนะของใช้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานช่างฝีมือประเภทใด ตามลักษณะการใช้งานมากกว่าการระบุถึงวัสดุหรือเทคนิคการผลิต แม้บางครั้งอาจกล่าวถึงบ้างถ้าวัสดุนั้นเป็นของมีค่า เช่น ขันเงิน(พานทรงสูงตีจากเนื้อเงินบริสุทธ์) หรือ แอ็บหมากคำ (ตลับใส่หมากตกแต่งด้วยโลหะทองคำ) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าภาชนะของใช้ในอดีตเป็นจำนวนมาก ผลิตด้วยเทคนิคและวัสดุพื้นถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นของธรรมดาๆ ไม่มีอะไรพิเศษ หรือมีราคาค่างวดมากมาย จึงไม่มีการใช้ศัพท์จำเพาะให้ชัดเจน ที่ใกล้เคียงกับการเป็นศัพท์จำเพาะมากที่สุดจะเรียกวลีว่า “คัวฮักคัวหาง” สำหรับสิ่งของที่เรารู้จักในปัจจุบันว่าเป็นเครื่องเขิน   เครื่องเขินในชีวิตประจำวันของชาวล้านนา เครื่องเขิน เป็นของใช้ที่ชาวล้านนานิยมเป็นอย่างยิ่งและยังต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน แม้ว่าจะลดบทบาทลงไปบ้างด้วยมีสิ่งอื่นเข้ามาทดแทน แต่ก็ยังมีการผลิตอยู่มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย           หลังจากที่มีการฟื้นฟูบ้านเมืองในสมัยของเจ้าหลวงกาวิละเขตเมืองเชียงใหม่ บริเวณถนนวัวลาย วัดนันทาราม บ้านช่างหล่อ เป็นชุมชนของชาวไทเขิน ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีความสามารถทางการช่างหลายแขนงรวมไปถึงการทำเครื่องเขินใช้ในชีวิตประจำวัน และเป็นที่นิยมแพร่หลายในกลุ่มชาวพื้นเมืองของล้านนา เพราะมีคุณภาพดีมีรูปทรงและลวดลายที่สวยงาม           การผลิตเครื่องเขิน นอกจากในเขตเมืองเชียงใหม่แล้ว ยังมีอยู่ทั่วไปในล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนสำคัญที่มีสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อต่อการใช้สอยเครื่องเขินและการสร้างสรรค์ ปกติงานเครื่องเขินในพื้นที่ต่างๆ ของล้านนามีรูปทรงโครงสร้าง และลวดลายตกแต่งคล้ายคลึงกัน จะแตกต่างแต่เพียงรายละเอียดปลีกย่อยของวัสดุตกแต่ง   ข้อมูลจาก : หนังสือเครื่องเขินในวัฒนธรรมล้านนา วิถี พานิชพันธ์
เผยแพร่เมื่อ 11 มกราคม 2565 • การดู 5,966 ครั้ง
ตุงตั๋วเปิ้ง
ตุงตั๋วเปิ้ง
ปีเปิ้ง หรือปีเกิดสิบสองราศี ใช้รูปสัตว์ 12 นักษัตรแทนในรอบ 12 ปี โดยความเชื่อเรื่องนักษัตรนี้ ทั้งไทยและ ล้านนา ได้รับมาจากระบบปฏิทินจีนโบราณ แต่ล้านนาเปลี่ยนปีใค้(ปีกุน) จากเดิมนักษัตรหมู มาเป็นช้างแทน ซึ่งการนับปีเปิ้ง จะเริ่มจากปีใจ้นักษัตรหนู แล้วสิ้นสุดที่ปีใค้นักษัตรช้าง           นอกจากนั้น ชาวล้านนายังมีความเชื่อเรื่องชุธาตุ หรือการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนเอง โดยสัมพันธ์กับปีนักษัตร เรียงตามลำดับ ดังนี้   1. ปีชวด(หนู)          ล้านนาเรียก      ปีใจ้     ไหว้พระธาตุศรีจอมทอง       จังหวัดเชียงใหม่ 2. ปีฉลู(วัว)             ล้านนาเรียก      ปีเปล้า  ไหว้พระธาตุธาตุลำปางหลวง     จังหวัดลำปาง 3. ปีขาล(เสือ)         ล้านนาเรียก      ปียี      ไหว้พระธาตุช่อแฮ              จังหวัดแพร่ 4. ปีเถาะ(กระต่าย)   ล้านนาเรียก      ปีเหม้า  ไหว้พระธาตุแช่แห้ง            จังหวัดน่าน 5. ปีมะโรง(งูใหญ่)   ล้านนาเรียก      ปีสี      ไหว้พระธาตุวัดพระสิงห์       จังหวัดเชียงใหม่ 6. ปีมะเส็ง(งูเล็ก)    ล้านนาเรียก      ปีใส้     ไหว้พระศรีมหาโพธิ์พุทธคยา     ประเทศอินเดียหรือไหว้เจดีย์พุทธคยาจำลอง วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ 7. ปีมะเมีย(ม้า)       ล้านนาเรียก      ปีสะง้า  ไหว้พระธาตุตะโก้ง(เจดีย์ชเวดากอง) ประเทศพม่าหรือไหว้พระบรมธาตุบ้านตาก จังหวัดตาก 8. ปีมะแม(แพะ)      ล้านนาเรียก      ปีเม็ด    ไหว้พระธาตุดอยสุเทพ         จังหวัดเชียงใหม่ 9. ปีวอก(ลิง)          ล้านนาเรียก      ปีสัน     ไหว้พระธาตุพนม               จังหวัดนครพนม 10. ปีระกา(ไก่)       ล้านนาเรียก      ปีเร้า    ไหว้พระธาตุหริภุญชัย          จังหวัดลำพูน 11. ปีจอ(หมา)        ล้านนาเรียก      ปีเส็ด    ไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หรือไหว้เจดีย์วัดเกตการาม  จังหวัดเชียงใหม่ 12. ปีกุน,กุญ(ช้าง)  ล้านนาเรียก      ปีใค้     ไหว้พระธาตุดอยตุง            จังหวัดเชียงราย   ในช่วงปีใหม่เมือง หรือสงกรานต์ ชาวล้านนามักทำตุงปีเปิ้งหรือตุงสิบสองราศีด้วยกระดาษ มีความกว้าง ประมาณ 4-6 นิ้ว ยาวประมาณ 1 เมตร ติดรูปตัวปีเปิ้ง 12 ตัว เริ่มจากปีใจ้นักษัตรหนู แล้วสิ้นสุดที่ปีใค้นักษัตรช้าง นำไปปักไว้ที่เจดีย์ทรายร่วมกับตุงมงคลประเภทอื่นๆ ในวันปีใหม่เมือง หรือใช้ปักกองทรายบริเวณที่ทำพิธีทานใจบ้านหรือแปลงบ้าน การใช้ตุงสิบสองราศีนี้เชื่อว่าเป็นตัวนามประจำปีเกิด เมื่อปักตุงในพื้นที่ทำพิธีแล้วจะช่วยให้พ้นเคราะห์โศกโรคภัยในปีนั้น ข้อมูลอ้างอิง : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. (2542). สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 6. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.หน้า 2835.  
เผยแพร่เมื่อ 12 เมษายน 2564 • การดู 34,463 ครั้ง
กุบ
กุบ
กุบ หมายถึง หมวกที่มีปีกซึ่ง ทำจากไม้ไผ่สานประกบกัน 2 ชิ้น แล้วกรุด้วยวัสดุจำพวกใบไม้ที่สวมสานด้วยไม้ไผ่ และกุบจะมี”หย่อง” คือโครงสานสำหรับสวมหัวซึ่งจะผูกติดกับกุบไว้ ซึ่งดังในภาพนี้เรียกว่า กุบใบลาน คือหมวกที่ใช้ใบลานกรุบนโครงไม้ไผ่สาน ในสมัยก่อน อาจกล่าวได้ว่ากุบ เป็นเครื่องใช้อย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ทว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ความสำคัญของกุบลดน้อยลงไปด้วย หากไม่นับชาวไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ยังใช้กุบในชีวิตประจำวัน ผู้ที่ใช้กุบในปัจจุบัน ก็คงมีแต่ชาวไร่ชาวสวนและชาวนาเท่านั้น หากใช้คำว่ากุบร่วมกับคำอื่น ก็จะได้ความหมายใหม่ซึ่ง อาจจะใกล้เคียงกับคำเดิม เช่น ทือกุบ หมายถึง มียศมีตำแหน่ง กุบกะแอ หมายถึงหมวกปีกกว้าง ส่วนกลางทำเป็นยอดแหลม กุบแข่ หมายถึง หมวกที่ไม่มีปีกหรือหมวกแบบจีน กุบจิกฅำ หมายถึงหมวกที่มีปีก ยอดแหลม ประดับทอง และมีโครงเป็นไม้ไผ่สาน กรุด้วยกระดาษสา ทาด้วยรักหรือชาดให้หนา มียันต์ ปิดทอง ใช้เป็นเครื่องประกอบยศหรือใช้ในการออกศึก กุบชีโว หมายถึงหมวกจีโบหรือหมวกที่ทำจากขนสัตว์ ส่วนข้างๆหมวกจะยาวลงมาปกหูเพื่อกันความหนาว แต่สามารถม้วนขึ้นได้ถ้าไม่ใช้   ข้อมูลจาก : สารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ เล่มที่ 1
เผยแพร่เมื่อ 8 ธันวาคม 2563 • การดู 8,992 ครั้ง
โคมผัด โคมยี่เป็งโบราณ
โคมผัด โคมยี่เป็งโบราณ
การจุดโคมนั้น นิยมทำกันอย่างมากในเทศกาลยี่เพง (อ่าน “ยี่เป็ง” ) คือวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองของไทยกลาง ในวันนั้นจะมีการจุดประทีปโคมไฟรวมทั้งบอกไฟดอก คือดอกไม้เพลิง บอกไฟดาวคือพลุที่ยิงขึ้นไปเห็นเป็นดาวตกจากท้องฟ้า พร้อมทั้งบอกไฟหรือดอกไม้ไฟชนิดอื่นๆ อีกเป็นอันมาก ในตอนพลบค่ำของวันยี่เพงนั้นจะมีการเทศน์จากคัมภีร์ชื่ออานิสงส์ผางประทีป เมื่อจบแล้วก็จะจุดประทีปโคมไฟตามบ้านเรือนขึ้นพร้อมๆกัน อาทิ โคมผัด คือโคมที่หมุนได้ ซึ่งคล้ายกับที่ทางภาคกลางเรียกว่า โคมเวียน โคมนี้ทำเป็นรูปกระบอกขนาดกว้าง ประมาณ 50 เซนติเมตร สูงประมาณ 70 เซนติเมตร หุ้มด้วยกระดาษสาหรือกระดาษว่าวสีขาว อาจทำเป็นสองชั้นหรือชั้นเดียวก็ได้ หากทำครอบสองชั้นแล้ว ชั้นในจะมีภาพต่างๆ ปิดไว้เป็นระยะๆให้พองาม มีสายหรือซี่โยงจากกรอบเข้าหาแกนกลางซึ่งทำเป็นตุ่มใส่ไว้ในก้นถ้วย ปิดแถบกระดาษเข้ากับสายหรือซี่นั้นโดยให้มีมุมและระยะที่ลงตัว เมื่อจุดเทียนซึ่งติดตั้งไว้กลางโคมนั้น ความร้อนจากเปลวเทียน จะไปกระทบแถบกระดาษและจะผลักให้ส่วนที่เป็นโครงครอบนั้นให้ผัดคือหมุนไปเรื่อยๆ เงาของภาพที่ปิดไว้จะส่องไปกระทบกับครอบชั้นนอก สร้างความเคลื่อนไหวด้วยแสงและเงาได้ในระดับหนึ่ง      ข้อมูล : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่มที่ 3 
เผยแพร่เมื่อ 22 ตุลาคม 2563 • การดู 7,971 ครั้ง
น้ำต้นกับตำนานเเละความเชื่อ
น้ำต้นกับตำนานเเละความเชื่อ
น้ำต้นกับตำนานและความเชื่อ              น้ำต้น หรือภาษาไทยภาคกลางเรียกว่าคนโท เป็นเครื่องปั้นดินเผา ประเภทที่เผาด้วยไฟแรงต่ำ ใช้สำหรับใส่น้ำดื่ม ความพิเศษของน้ำที่ใส่ในน้ำต้น คือจะมีความเย็นกว่าอุณหภูมิห้องปกติเล็กน้อย เพราะเนื้อดินเผามีรูพรุนเล็กๆ สามารถระบายอากาศได้ดี โดยความร้อนที่อยู่ในน้ำต้นจะซึมออกมาตามรูพรุนนี้ เมื่อความชื้นเจอกับความร้อนก็จะเกิดการระเหยของน้ำ ทำให้ผิวภาชนะดินเผาเย็นลง โมเลกุลน้ำที่อยู่ในภาชนะน้ำต้นก็เย็นลงตาม การดื่มน้ำจากน้ำต้นจึงให้ความสดชื่น และมีกลิ่นของดินผสมอยู่            ลักษณะน้ำต้นเป็นรูปทรงขวด มีส่วนฐาน ส่วนลำตัวที่กลมป่องออกมา ส่วนคอและปากน้ำต้น คาดว่าน่าจะพัฒนาการมาจากน้ำเต้า ซึ่งเป็นภาชนะใส่น้ำดื่ม ทำมาจากผลน้ำเต้า ผ่านกรรมวิธีนำเมล็ดและเนื้อภายในออกจนกลวง เหลือเพียงแต่ผิวภายนอกที่เป็นเปลือกแข็งและแห้ง ส่วนหัวตัดขั้วออกพอให้รินน้ำดื่มกินได้ ทั้งนิยมสานหวายหรือไม้ไผ่ครอบผลน้ำเต้า เพื่อให้ตั้งวางกับพื้นได้ และสะดวกในการพกพายามเดินทางไปค้าขายหรือเดินทางไปที่ต่างๆ          ทั้งนี้ความน่าสนใจของผลน้ำต้น ยังเชื่อมโยงไปถึงจุดเริ่มต้นของการกำเนิดบรรพบุรุษของคน ซึ่งมีตำนานความเชื่อของกลุ่มคนไทดำ ไทขาว และคนลาวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือ “น้ำเต้าปุง” โดยมีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏอยู่ทั้งในจดหมายเหตุของชาวไทดํา ในพงศาวดารเมืองแถง และพงศาวดารล้านช้าง ของลาว ที่กล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากน้ำท่วมโลก แล้วพญาแถนเอาหมากน้ำเต้าปุงลงมายังโลกมนุษย์ ซึ่งในผลน้ำเต้ามีมนุษย์อาศัยอยู่ข้างใน บางตำนานก็เล่าว่าพญาแถนเอาเหล็กแหลมจี้ลงไปในผลน้ำเต้า จากนั้นก็มีมนุษย์ออกมาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ส่วนในตำนานของชาวไทลื้อสิบสองปันนา กล่าวถึงปู่สังกะสา ย่าสังกะสี นำผลน้ำเต้าลงมายังโลก ทุบน้ำเต้าจนแตกแล้วโยนขึ้นบนฟ้า แล้วหว่านลงดิน สอนคนให้เพาะปลูกเป็น ทั้งนี้ในเรื่องของการกำเนิดขึ้นของมนุษย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับข้าว ที่กล่าวถึงการตีข้าว และการแบ่งข้าวเป็นส่วนๆ อาจพออนุมานได้ว่า หากผลน้ำเต้าและข้าวถูกบรรจุในตำนานเมื่อครั้งโบราณกาลแล้ว ก็เป็นสิ่งที่เชื่อมั่นได้ว่า น้ำเต้าและข้าวต้องเป็นพืชพันธุ์อาหารที่หล่อเลี้ยงผู้คนในอดีตหลายร้อยหลายพันปีมาแล้ว จึงมีความสำคัญต่อการสร้างอารยธรรมของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้            เมื่อถึงจุดหนึ่งที่อารยธรรมยุคโบราณเริ่มอิ่มตัว เกิดศาสนาและจารีตที่เป็นแนวทางการปฏิบัติร่วมในสังคมให้เกิดระเบียบ จะมีสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์นี้แฝงอยู่ในรูปแบบงานศิลปกรรมทางศาสนา ในพุทธศาสนาภาพความอุดมสมบูรณ์ถูกเชื่อมโยงเข้ากับน้ำ เพราะน้ำเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตที่ก่อกำเนิดสรรพสิ่งในโลก รวมถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนา โดยมีตัวแทนหรือวัตถุสิ่งของเป็นภาพจำให้สื่อถึงความเจริญงอกงาม ไม่ว่าจะเป็นนาค และหม้อบูรณะกฏะ           หม้อบูรณะกฏะ หรือหม้อน้ำ หรือแจกัน(ในปัจจุบัน) เป็นสัญลักษณ์สำคัญในพุทธศาสนา มีความหมายครอบคลุมถึงความอุดมสมบูรณ์ทั้งมวล ถือเป็นความงามในอุดมคติ มีการใช้สัญลักษณ์นี้อย่างแพร่หลายในกลุ่มที่นับถือพุทธศาสนา ทั้งพุทธนิกายเถรวาท และมหายาน ส่วนรูปลักษณ์ของน้ำเต้าและน้ำต้นมีความคล้ายคลึงกับหม้อปูรณะกฏะ ในช่วงตัวที่กลมป่องเพื่อใช้ใส่น้ำ จึงสื่อความหมายใกล้เคียงกับความดีงาม ชุ่มชื่น สดชื่น มีชีวิต           โดยภาพรวมแล้วพัฒนาการของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันกับสังคมมีความสอดคล้องกันอย่างเหมาะสม เริ่มจากการทำเครื่องใช้ประเภทต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยทุ่นแรงและตอบสนองการใช้ชีวิตประจำวัน ระหว่างทางของกาลเวลาก็มีพัฒนา ประยุกต์ใช้ และถ่ายทอดมายังรุ่นหลังอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น เมื่อสังคมมีพัฒนาการเป็นอารยธรรมเกิดความซับซ้อนของวิธีคิด มีการนำเอาปรัชญาและศาสนาเข้ามาเชื่อมต่อกับชีวิตประจำวัน เกิดการจำกัดความและให้คุณค่ากับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว มีการให้ความหมายเชิงสัญญะกับวัตถุข้าวของเครื่องใช้จนกลายมาเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมา     เขียนโดย : ฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช. ปฐม หงส์สุวรรณ. กาลครั้งหนึ่งว่าด้วยตำนานกับวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550. หน้า 73-75.  Meher McArthur. Reading Buddhist Art an Illustrated Guide to Buddhist Signs and Symbols. United Kingdom : Thames & Hudson Ltd. 2002. P.118-119.  
เผยแพร่เมื่อ 11 มิถุนายน 2563 • การดู 12,191 ครั้ง
เครื่องเขินล้านนา
เครื่องเขินล้านนา
วิถีคนเมืองกับเครื่องเขินล้านนา          คำว่า “ เครื่องเขิน ” หมายถึง  ภาชนะ เครื่องมือ หรือ  ของใช้  ที่ผลิตขึ้นโดยชาวเชียงใหม่ที่มีเชื้อสายสืบมาจากไทเขินแต่โบราณ  คำนี้น่าจะบัญญัติขึ้นโดยคนไทยภาคกลาง  หรือ ข้าราชการจากส่วนกลางที่ขึ้นมาอยู่ในภาคเหนือเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว  เพราะว่าคำนี้มิได้ปรากฏอยู่ในภาษาพื้นถิ่นของชาวเชียงใหม่           ชาวเชียงใหม่เรียกชื่อภาชนะของใช้ต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นงานช่างฝีมือประเภทใด  ตามลักษณะการใช้งานมากกว่าการระบุถึงวัสดุหรือเทคนิคการผลิต  แม้บางครั้งอาจกล่าวถึงบ้าง  ถ้าวัสดุนั้นเป็นของมีค่า  เช่น ขันเงิน (พานทรงสูงตีจากเนื้อเงินบริสุทธิ์ )  หรือ แอ็บหมากคำ ( ตลับใส่หมากทำด้วยโลหะทองคำ )         ไทเขิน  คือ ชนพื้นเมือง  หรือ   คนกลุ่มตระกูลไท–ลาว   ที่ตั้งรกรากสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ในที่ราบลุ่มของแม่น้ำเขิน  ซึ่งเป็นแม่น้ำที่สำคัญดุจสายเลือดของแคว้นเชียงตุง  โดยเชื้อสาย  ภาษาพูด  วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม ชาวไทเขินเป็นชนกลุ่มหนึ่งในตระกูลไทลื้อที่กระจายอยู่ทั่วไปในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง อยู่กันมานับพันปี      มีศูนย์กลางการปกครองสำคัญภายใต้การปกครองแบบระบบกษัตริย์ เรียกว่า “ สิบสองปันนา ”   มีเมืองเชียงรุ่งเป็นราชธานี   แคว้นเชียงตุงมิได้ขึ้นอยู่กับสองสองพันนาโดยตรง  แต่มีความสัมพันธ์และผูกพันกันอย่างใกล้ชิด    ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรม  เจ้านายและราชวงศ์ที่ปกครองเชียงใหม่  เชียงตุงและ เชียงรุ่ง  มีความเกี่ยวพันฉันท์เครือญาติ  มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน    คำว่า “เขิน”   ออกเสียงเป็นสำเนียงพื้นเมืองเชียงตุงว่า  “ ขืน”   ซึ่งแปลว่า ย้อนขึ้น  หรือ ขัดขืน  หรือ ฝืน  ดังนั้นแม่น้ำที่ไหลผ่านเชียงตุงจึงเรียกว่า “แม่น้ำขืน” เพราะว่าสายน้ำไหลย้อนขึ้นทางเหนือก่อนที่จะรวมเข้ากับแม่น้ำโขง  ปัจจุบันเชียงตุงเป็นพื้นที่การปกครองเทียบเท่ากับจังหวัด  ตั้งอยู่ในรัฐฉานตะวันออกของประเทศพม่า  หรือ เมียนม่าร์          เครื่องเขินในความคิดและความเข้าใจของคนทั่วไปในปัจจุบัน คือภาชนะของใช้หรือของตกแต่งบ้าน  ที่มีโครงภายในเป็นเครื่องจักสานทำจากวัสดุไม้ไผ่หวายหรือไม้จริง  ภายนอกเคลือบทาด้วยยางจากต้นไม้รักที่มีลักษณะเป็นสีดำเพื่อให้เกิดความคงทน  มีคุณสมบัติที่กันน้ำและความชื้นได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสวยงามให้แก่ผิวของภาชนะด้วย   ลักษณะที่มันเงาหรือบางทีปรับเป็นพื้นผิวลักษณะต่างๆ ทำให้น่าสนใจ   เครื่องเขินจีนและญี่ปุ่นมีพัฒนาการด้านการตกแต่งผิวอย่างก้าวไกลมากจนเป็นการสร้างสรรเชิงศิลปะระดับสูง    มีความวิจิตรพิสดารและความงามอย่างลึกซึ้ง          ในอดีต เครื่องเขินที่เป็นของใช้ในครัวเรือนทั่วๆไป  นิยมออกแบบให้มีลักษณะแข็งแรงทนทาน   แต่มีน้ำหนักเบา  ชาวล้านนาแต่เดิมมีที่อยู่อาศัยเป็นเรือนเครื่องผูก  มีส่วนประกอบและโครงสร้างเป็นไม้ไผ่เสียส่วนใหญ่  ดังนั้นในวัฒนธรรมการกินอยู่จึงไม่มีเฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือนที่ใหญ่และหนักเทอะทะ          คุณสมบัติสำคัญของเครื่องเขิน  คือ มีน้ำหนักเบา  ยืดหยุ่นบิดตัวได้บ้าง  ไม่แตกหักเสียหายอย่างทันทีทันใดเช่นเครื่องปั้นดินเผา  วัสดุการผลิตเป็นสิ่งที่เสาะหาได้ง่ายโดยทั่วไปในท้องถิ่นและเทคนิคประกอบกับการตกแต่งไม่สลับซับซ้อนจนเกินไป        ในพิธีกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีเลี้ยงผีแบบพื้นเมือง หรือพิธีกรรมทางพุทธ    แต่เดิมจะต้องใช้ภาชนะเครื่องเขินเกือบทั้งสิ้น ขบวนขันหมากเจ้าบ่าวไปขอลูกสาว หรือขบวนแห่นำเครื่องไทยทานไปถวาย หรือแม้แต่เจ้านายเสด็จไปทางไหน จำต้องมีพานขันดอกเครื่องเขินนำขบวน  ชนชั้นสูงไปไหนมาไหนจะมีบ่าวไพร่ยกขันหมาก กระโถน แอ็บยาเส้น พาน คนโท นำมาเป็นแถว ซึ่งล้วนแต่เป็นเครื่องเขินมาก่อน เพิ่งมาปรับเป็นเครื่องโลหะในยุคหลัง ๆ เมื่อไม่นานมานี้       ตามบ้านเรือนรุ่นเก่าในล้านนา  เราพบเครื่องเขินของใช้อยู่ตามมุมต่าง ๆ ในตำแหน่งที่มีการใช้สอย เช่น หีบผ้า เอิบ และกล่องใส่ของมีค่าอยู่บนหิ้งหรือฝ้าเพดาน ขันดอกขันไหว้ผีปู่ย่าบรรพบุรุษอยู่ที่หิ้งไหว้ผีหัวนอนของผู้สูงอายุ ขันหมาก ขันเมี่ยงอยู่ที่หน้าเรือนพร้อมทีจะใช้รับแขก ขันโตก ปุงเมล็ดผักพันธุ์พืชอยู่ในห้องครัวไฟ ของใช้เหล่านี้นอกเหนือจากรองรับหน้าที่ปกติในบ้านเรือนแล้ว ยังเป็นสมบัติที่มีไว้อวดไว้แสดง บ้านเรือนใดมีขันหมากลวดลายสวยงามย่อมเป็นเกียรติเป็นศรีแก่เจ้าของเรือน หีบผ้าเจ้าบ่าวเมื่อแห่ไปถึงบ้านเจ้าสาว ย่อมบ่งถึงฐานะความมั่งมีของครอบครัวฝ่ายชาย อีกทั้งลวดลายประดับ ยังบอกถึงรสนิยมและฐานะทางสังคมของผู้เป็นพ่อแม่     งานประเพณีฟ้อนผีมด ผีเม็ง เซ่นไหว้ผีบรรพชนของแต่ละสายตระกูล  จำเป็นต้องใช้ภาชนะเซ่นไหว้มากมายในแต่ละครั้ง ญาติพี่น้องเชื้อสายเดียวกันย่อมนำเอาภาชนะขันดอกขันไหว้ของตนมาชุมนุมที่บ้านเจ้าภาพสำหรับพิธีการ ตระกูลใดมีเครื่องเขินขันดอกสวยงามก็เป็นที่โจษขาน ไม่น้อยหน้าวงศ์ตระกูลอื่น สายวงศ์ใดไม่มีภาชนะของใช้ที่วิจิตรงดงาม มักจะเป็นที่ดูถูกดูแคลนในสังคม จำต้องขวนขวายหาเก็บหาเก็บหาซื้อไว้เป็นสมบัติ   คัดลอกข้อมูลมาจาก : หนังสือเครื่องเขินในวัฒนธรรมล้านนา เขียนโดย อาจารย์วิถี พานิชพันธ์
เผยแพร่เมื่อ 4 มิถุนายน 2563 • การดู 16,172 ครั้ง
พระเจ้าไม้
พระเจ้าไม้
พระเจ้าไม้ หมายถึงพระพุทธรูปที่แกะจากไม้ชนิดต่างๆ ตามความเชื่อ ซึ่งโดยทั่วไปแกะขึ้นจากไม้ท่อนเดียวชนิดเดียว แต่ก็มีบางองค์แกะจากไม้หลายชนิดแล้วนำมาประกอบกัน ประเภทไม้ที่ใช้สร้างพระเจ้า จากการศึกษาของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง พบว่าไม้ที่นิยมนำมาสร้างเป็นพระพุทธรูปหรือพระเจ้านั้น โดยทั่วไปจะใช้ ไม้สัก ไม้สะหรี (โพธิ์) ไม้สะเลียม (สะเดา) ไม้แก่จันทน์ (จันทน์หอม) เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีไม้ชนิดอื่นๆอีก เช่น ไม้แก้ว (พิกุล) ไม้จำปา ไม้จำปี ไม้เดื่อปล่อง เดื่อเกลี้ยง ไม้ประดู่ คติเกี่ยวกับไม้มงคลที่สร้างพระเจ้านั้น บางส่วนได้รับความเชื่อมาจากไม้โพธิ์ฤกษ์ คือไม้ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ประทับใต้ร่มไม้นั้นๆ ในการตรัสรู้ โดยปกติแล้ว พระเจ้าไม้ขนาดใหญ่ มักเป็นพระเจ้าของเจ้าภาพระดับผู้มีอำนาจหรือคนหมู่มากระดับชุมชนแต่ที่มีโดยทั่วไปมักเป็นพระเจ้าขนาดเล็กแกะจากไม้ท่อนเดียวมีทั้งหมด 4 อิริยาบถ คือ พระเจ้ายืน พระเจ้าเดิน พระเจ้านอนและพระเจ้านั่ง ที่ปรากฎมากที่สุดคือพระเจ้านั่ง ซึ่งมี 2 ปาง คือ ปางสมาธิและปางชนะมารมีจำนวนมากที่สุด ส่วนมากอายุประมาณ 70-150 ปี สร้างถวายวัดเพื่ออานิสงส์และสืบต่ออายุพระศาสนา  ส่วนพระเจ้าที่แกะจากไม้หลายชนิดประกอบกันเป็นองค์พระ มักเป็นพระเจ้าไม้ประจำชะตาปีเกิด สร้างขึ้นเพื่อเอาไว้สักการบูชาหวังเป็นความสิริมงคล การสร้างพระเจ้าไม้มีวัตถุประสงค์ 2 อย่าง อย่างหนึ่ง สร้างขึ้นเพื่อถวายไว้เพื่อสืบต่อพระศาสนา แล้วตั้งความปรารถนารับอานิสงส์ไปตลอด ตราบจนเข้าพระนิพพานเป็นที่สุด อีกอย่างหนึ่ง สร้างเป็นพระพุทธรูปประจำตัวหรือประจำชาตาปีเกิด เพื่อตั้งไว้สักการบูชา โดยมุ่งหวังความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต   ข้อมูล : อาจารย์สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.
เผยแพร่เมื่อ 29 พฤษภาคม 2563 • การดู 5,335 ครั้ง
โบราณวัตถุในพะเยา
โบราณวัตถุในพะเยา
โบราณวัตถุ เช่น ศิลาจารึก  เศียรพระพุทธรูป ฯลฯ ในพะเยามีจำนวนมาก  นายอำเภอพะเยา คนแรกคือนายคลาย บุษบรรณ (ต่อมาเป็นหลวงสิทธิประศาสน์) ให้นำมากองไว้ที่ที่ว่าการอำเภอพะเยา  ครั้งรัชกาลที่ 7 เสด็จพะเยาเมื่อ พ.ศ.2469 ได้แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกสภาพดีให้นำส่งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร   ส่วนที่สองสภาพดีพอสมควร ให้นำส่งพิพิธภัณฑ์ที่ลำพูน  ส่วนที่สามชำรุดยังเก็บไว้ที่พะเยา  โดยต่อมาราวทศวรรษ 2510 มีผู้นำเศียรพุทธรูปจำนวนหนึ่งจากพะเยาไปไว้ที่วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม เชียงใหม่ พะเยามีพระสงฆ์ 2 องค์เก็บสะสมโบราณวัตถุที่หลงเหลือจำนวนมาก คือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺโญ) เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม พ.ศ.2460 ที่บ้านสางเหนือ ต.บ้านสาง อ.เมือง จ.พะเยา บรรพชาเมื่อ พ.ศ.2475 อุปสมบทเมื่อ พ.ศ.2481 เริ่มเก็บโบราณวัตถุส่วนที่สามที่ยังเหลืออยู่ในพะเยาในวัดศรีโคมคำตั้งแต่ พ.ศ.2508 ต่อมานับโบราณวัตถุได้ประมาณ 1 ชิ้น ศิลาจารึก ประมาณ 30 ชิ้น ตำรา คัมภีร์ใบลานจำนวนมาก ต่อมาลูกศิษย์ผู้ศรัทธาได้สร้างหอวัฒนธรรมนิทัศน์ ในบริเวณวัดศรีโคมคำเป็นที่จัดแสดงพร้อมจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับจารึกเมืองพะเยา และหนังสือประวัติศาสตร์ เมืองพะเยาเผยแพร่หลายเล่ม พระครูอนุรักษ์บุรานันท์ (บุญชื่น ฐิตธมฺโม) เกิด พ.ศ.2482 ที่บ้านแม่ต๋ำสายใน ต.แม่ต๋ำ อ.เมือง จ.พะเยา บรรพชา พ.ศ.2497 อุปสมบท พ.ศ.2503 เก็บรวมรวมโบราณวัตถุไว้ที่วัดแม่ต๋ำเมืองชุม ต่อมาเมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดลีก็ขนย้ายโบราณวัตถุมาไว้ที่วัดลีเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์วัดลี   จนถึง พ.ศ.2549 จังหวัดพะเยาได้มีโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี) นำโบราณวัตถุในวัดลีจัดทำทะเบียนและจัดแสดงในอาคารเปิดตั้งแต่ พ.ศ.2551 ทั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ และพิพิธภัณฑ์เวียงพะเยา วัดลีถือเป็นแหล่งที่มีโบราณวัตถุเมืองพะเยาที่สำคัญยิ่ง   ของดีในพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี)           1.ศิลาจารึก พะเยามีศิลาจารึกจำนวนมาก หลักที่มีสภาพสมบูรณ์อยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร   หลักที่มีสภาพรองลงมาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ลำพูน เมื่อมีการลงทะเบียนจารึกจึงใช้อักษรย่อตามแหล่งที่เก็บ เช่น เก็บไว้ที่ลำพูนก็ลงทะเบียนจารึกว่า “ลพ.”           จารึกจากพะเยาหลักหนึ่งคือ   ลพ.9  เป็นจารึกสำคัญจารึกรายชื่อกษัตริย์ราชวงศ์มังรายตั้งแต่พญามังรายถึงพญาสามฝั่งแกน และการแต่งตั้งเจ้าเมืองพยาว การสร้างวัดสำคัญในพะเยา   เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญยืนยันว่า (1)พญาติโลกราช เป็นกษัตริย์องค์ที่ 9 ของราชวงศ์มังราย เพราะพญาสามฝั่งแกน พระราชบิดาของพญาติโลกราช นับพระองค์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 8   (2)พญาสามฝั่งแกน ครองราชย์เมื่อ อายุ 13 ปี ด้วยการสนับสนุนของพระนางติโลกจุฑาเทวี มเหสีของพญาแสนเมืองมาผู้อยู่ในตำแหน่งมหาเทวีและอาวเลี้ยง  จึงตอบแทนอาวเลี้ยงโดยแต่งตั้งอาวเลี้ยงให้ดำรงตำแหน่งเจ้าสี่หมื่นครอง “เมิงพยาว” (3)เจ้าสี่หมื่น เจ้าเมืองพยาวและมหาเทวี เป็นประธานสร้างวัดพระสุวรรณมหาวิหาร แล้วกัลปนาเป็นที่นา 21,685 แปลง (ราคา 4,686,000)หมากหมื่นคำเศษ ข้าวัด 187 บ้าน 246 เรือน ให้วัดพระสุวรรณมหาวิหาร           ในพะเยาทั้งที่วัดศรีโคมคำและวัดลีจึงเหลือจารึกที่ชำรุดแต่ล้วนมีคุณค่า เช่น จารึกลาวงำเมือง (พย.54) เศษจารึกขนาดกว้าง 26.5 ซม. สูง 12 ซม.หนา 5.5 ซม.พบที่วัดสบร่องขุย  จารึกด้วยอักษรฝักขามมีชื่อลาวงำเมือง และพญาร่วง แม้ขาดชื่อพญามังรายไปเพราะจารึกชำรุด ก็บ่งบอกให้เห็นว่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของสามกษัตริย์เป็นเรื่องที่มีหลักฐานประวัติศาสตร์ประเภทจารึกรองรับเพิ่มเติมจากหลักฐานประเภทตำนาน เช่น ชินกาลมาลินี หรือชินกาลมาลีปกรณ์  จารึกหลักนี้เก็บรักษาไว้ที่วัดลี  ต่อมาเมื่อพบเครื่องปั้นดินเผาที่แหล่งเตาเวียงบัว  ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา ตรวจด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่ามีอายุถึงยุคลาวงำเมือง  ทำให้ยุคพญางำเมืองมีทั้งหลักฐานเกี่ยวกับการเมืองและเศรษฐกิจ           จารึกสำคัญของวัดคือจารึกวัดลี เป็นจารึกอักษรฝักขาม กว้าง 52 ซ.ม. สูง 96 ซ.ม. หนา 17 ซ.ม. ระบุว่า สร้างโดยเจ้าสี่หมื่น ผู้เป็นราชครูของพญายอดเชียงราย เมื่อ พ.ศ.2038 ปีดังกล่าวเป็นปีที่พระเจ้ายอดเชียงรายสวรรคต  จึงอาจเป็นการสร้างเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล  จารึกหลักนี้เป็นหลักฐานสำคัญยืนยันความเป็นมาของวัดลีเช่นเดียวกับจารึกวัดศรีสุพรรณที่เชียงใหม่ ซึ่งพญาเมืองแก้วและพระราชมารดา โปรดฯให้หมื่นจ่าคำรังการสร้างวัด เมื่อ พ.ศ.2043 ซึ่งมีวัดจำนวนไม่มากที่พบจารึกประวัติวัด   2.จารึกและพระพุทธรูปที่พบที่วัดติโลกอาราม กลางกว๊านพะเยา กว๊านพะเยาเพิ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่กลางเมืองพะเยาตั้งแต่ พ.ศ.2482 เมื่อมีการสร้างประตูกั้นน้ำที่สถานีประมงน้ำจืดพะเยา  ช่วงก่อนหน้านั้นเป็นเส้นทางผ่านของน้ำแม่อิง  น้ำแม่ใส น้ำแม่ไฮมีหนองน้ำ เช่น หนองเต่า  หนองเอี้ยง ฯลฯ และมีวัดร้างหลายวัด  เมื่อครั้งน้ำเต็มกว๊าน ในปี พ.ศ.2550 กรมศิลปากรได้สำรวจโบราณคดีใต้น้ำพบร่องรอยวัดร้าง  หนองน้ำที่สำคัญได้พบจารึกแผ่นหินทรายสีเทาคล้ายใบเสมา สภาพชำรุด ขนาดกว้าง 36 ซ.ม. สูง 30 ซ.ม. หนา 7 ซ.ม.     เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2550  ณ บริเวณเนินสันธาตุ ใกล้ท้ายบ้านร่องไฮ ต.แม่ใส อ.เมือง  จ.พะเยา เดิมชาวบ้านเรียกสันธาตุ หรือวัดบวกสี่แจ่ง เมื่อพบจารึกก็ทราบชื่อวัดแห่งนี้ว่าชื่อ วัดติโลกอาราม ครั้นนั้นได้นำจารึกและพระพุทธรูปที่พบจากวัดติโลกอารามไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์วัดลี  มีการฟื้นวัดติโลกอารามเป็นวัดกลางกว๊านพะเยาเป็นสถานที่ทำบุญเวียนเทียนกลางกว๊านในวันมาฆบูชา (เป็งเดือนห้า) ตั้งแต่นั้นมา จารึกที่พบ ณ เนินสันธาตุ กลางกว๊านพะเยาเขียนด้วยอักษรฝักขาม เขียน 2 ด้าน ด้านหนึ่งเหลือ 11 บรรทัด อีกด้านเหลือ 12 บรรทัด กล่าวถึงความเป็นมาของการสร้างวัดติโลกอาราม ที่หนองเตา สมัยพระญายุธิษฐิระ “ลูกพระเป็นเจ้า”(โอรสบุญธรรม) ของพระเจ้าติโลกราช มีการผูกพัทธสีมาและบวชพระภิกษุ 4 รูป ครั้งนั้น พระเป็นเจ้า(พระเจ้าติโลกราช) ได้ถวายพระพุทธรูป 1 องค์ พร้อมถวายที่นา  เงินจำนวน 1 ล้านเบี้ย ข้าวัดจำนวน 5 ครัว  โดยมีรายชื่อพระสังฆาธิการจากหลายวัดในเมืองพะเยา  ผู้สนใจจารึกหลักนี้เข้าชมได้ที่พิพิธภัณฑ์วัดลี โดยมีคำอ่านติดไว้ที่แท่นตั้งทุกหลักที่จัดแสดง ช่วงปลายปี พ.ศ.2558-พ.ศ.2559 ประเทศไทยประสบภัยเอลนีโญเกิดความแห้งแล้งหนัก บริเวณกว๊านพะเยา น้ำแห้ง กลายเป็นบ่อโคลน  มองเห็นเนินดินที่เป็นซากโบราณสถาน โบราณวัตถุจำนวนมาก หลายแห่งในการสำรวจเมื่อเมษายน 2559 พบร่องรอยวัดโลกติลกสังฆาราม  วัดโบราณขนาดใหญ่อยู่ไม่ไกลจากวัดติโลกอาราม ค่อนไปทางเหนือ  พบฐานเสาวิหารทำด้วยหินทราย  กระเบื้องดินขอ เศษเครื่องปั้นดินเผาเคลือบ ส่วนหนึ่งมาจากแหล่งเตาบ้านโป่งแดง อ.พาน จ.เชียงราย แหล่งเตาเวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย พบร่องน้ำที่ไหลลงน้ำแม่อิง พบร่องรอยหนองใหญ่ที่เรียกว่า “หนองเต่า” พ.ศ.2560 กรมศิลปากรมีโครงการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีบ้านร้องไฮ ต.แม่ใส อ.เมือง  จ.พะเยา บริเวณริมกว๊านพะเยาด้านใต้ โดยเฉพาะบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “สันธาตุหน่อแก้ว” พบฐานวิหารขนาดใหญ่ ฐานอุโบสถโดยมีพัทธสีมาหัวรูปบัวตูมเรียงราย  พบพระพุทธรูปบนฐานชุกชีประมาณ 4 องค์ นอนทับกัน ต้นปี พ.ศ.2561 คุณวิวรรณ แสงจันทร์ นักโบราณคดีนำผู้เขียน และ ศ.สรัสวดี ชมแหล่งโบราณคดีบ้านร่องไฮ และบริเวณที่พบพระพุทธรูปบนฐานชุกชี  เห็นว่าเป็นจุดแข็งอีกจุดหนึ่งนอกเหนือจากวัดติโลกอารามกลางกว๊านแล้ว  บริเวณนี้ควรได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อให้คนในเมืองพะเยาและผู้สนใจเข้ามานมัสการ  โดยต้องมีงบประมาณจำนวนหนึ่งสำหรับป้องกันน้ำท่วม แต่โครงการขุดค้นและขุดแต่งก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน  โดยมีการนำพระพุทธรูปและโบราณวัตถุทั้งหมดขึ้นเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุฯ พะเยา เพื่อเตรียมนำส่งเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เชียงแสนตามระเบียบของกรมศิลปากรต่อไป เมื่อผู้เขียนได้เห็นจารึกและพระพุทธรูปของวัดติโลกอารามที่เก็บรักษาและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดลีเมื่องานเป็งเดือนห้า  จึงมีความคิดใคร่ขอเสนอต่อจังหวัดพะเยา ให้ทำหนังสือราชการถึงกรมศิลปากร ขออนุญาต “ยืม” พระพุทธรูปและโบราณวัตถุที่พบในบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “สันธาตุหน่อแก้ว”  จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว วัดลี  เพื่อประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีเวียงพะเยาของคนในพะเยา เพราะทั้งวัดติโลกอาราม  และบริเวณริมกว๊านที่ชาวบ้านเรียก “สันธาตุหน่อแก้ว” และแหล่งโบราณคดีบ้านร่องไฮ อาจเป็นเขตที่เรียกว่า “โลกติลกสังฆาราม” โดยมีวัดใหญ่อีกวัดคือ วัดโลกติลกสังฆารามในบริเวณกว๊าน รอการฟื้นฟู   อาณาบริเวณดังกล่าวเป็นยุคสมัยที่พระเจ้าติโลกราชกษัตริย์แห่งล้านนาโปรดฯให้พระญายุธิษฐิระ เจ้าเมืองสองแควที่เข้ามาสวาภิภักดิ์ดำรงตำแหน่งเจ้าสี่หมื่นปกครองพะเยา   เป็นการเพิ่มจุดแข็งของเมืองพะเยาก่อนที่จะมีการส่งพระพุทธรูปที่พบเข้าเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์เชียงแสนตามระเบียบของกรมศิลปากร   3.พระบฏหรือพระบต ที่เขียนเรื่องราวทศชาติชาดก สมัยเทศาภิบาล โดยทั่วไป “พระบฏ”หรือพระบต เป็นภาพเขียนพระพุทธเจ้าบนแผ่นผ้าองค์เดียว เช่น พระบตของวัดป่าชี่(อ่านว่าวัดป่าจี้)  จ.เชียงใหม่ ซึ่งนำมาใช้ในพิธีไหว้ผีปู่เสะย่าเสะทุกปี   หรืออาจมีพระสาวกองค์สำคัญคือพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรอยู่ข้างพระพุทธองค์ ดังเช่น พระบต ของวัดพระนอนขอนม่วง อำเภอแม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งพระเจ้าอินทวโรรสกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมีโปรดฯ ให้ปักบนแผ่นผ้าถวายวัด แต่พระบตในพิพิธภัณฑ์เวียง พยาว วัดลีจัดแสดงแตกต่างจากทุกแห่งที่เคยเห็นมา เพราะพระบตที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว วัดลีเป็นภาพเขียนเรื่องทศชาติชาดกบนแผ่นผ้า เป็นภาพเขียนบนแผ่นผ้าในสมัยเทศาภิบาล ดังนั้นตัวเอกในแต่ละชาติมีคนแต่งกายชุดข้าราชการสยามแทรกอยู่ด้วย  ผู้เขียนภาพคงเป็นไทใหญ่ในพะเยาเพราะเขียนคำอธิบายภาพด้วยภาษาไทใหญ่และหลายภาพมีชาวบ้านแต่งกายชุดไทใหญ่  หากนับว่าภาพเขียนทศชาติบนแผ่นผ้าเป็น “พระบต” ตามคำอธิบายงานที่จัดแสดงก็นับเป็นพระบตหรือพระบฏ ที่มีเรื่องราวทศชาติชาดกและแทรกยุคสมัยเทศาภิบาลชุดแรกที่ได้พบ   รองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล ที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์ โครงการจัดทำแผนและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า พะเยา 1 โบราณวัตถุในพะเยา โบราณวัตถุ เช่น ศิลาจารึก  เศียรพระพุทธรูป ฯลฯ ในพะเยามีจำนวนมาก  นายอำเภอพะเยา คนแรกคือนายคลาย บุษบรรณ (ต่อมาเป็นหลวงสิทธิประศาสน์) ให้นำมากองไว้ที่ที่ว่าการอำเภอพะเยา  ครั้งรัชกาลที่ 7 เสด็จพะเยาเมื่อ พ.ศ.2469 ได้แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกสภาพดีให้นำส่งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร   ส่วนที่สองสภาพดีพอสมควร ให้นำส่งพิพิธภัณฑ์ที่ลำพูน  ส่วนที่สามชำรุดยังเก็บไว้ที่พะเยา  โดยต่อมาราวทศวรรษ 2510 มีผู้นำเศียรพุทธรูปจำนวนหนึ่งจากพะเยาไปไว้ที่วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม เชียงใหม่ พะเยามีพระสงฆ์ 2 องค์เก็บสะสมโบราณวัตถุที่หลงเหลือจำนวนมาก คือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺโญ) เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม พ.ศ.2460 ที่บ้านสางเหนือ ต.บ้านสาง อ.เมือง จ.พะเยา บรรพชาเมื่อ พ.ศ.2475 อุปสมบทเมื่อ พ.ศ.2481 เริ่มเก็บโบราณวัตถุส่วนที่สามที่ยังเหลืออยู่ในพะเยาในวัดศรีโคมคำตั้งแต่ พ.ศ.2508 ต่อมานับโบราณวัตถุได้ประมาณ 1 ชิ้น ศิลาจารึก ประมาณ 30 ชิ้น ตำรา คัมภีร์ใบลานจำนวนมาก ต่อมาลูกศิษย์ผู้ศรัทธาได้สร้างหอวัฒนธรรมนิทัศน์ ในบริเวณวัดศรีโคมคำเป็นที่จัดแสดงพร้อมจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับจารึกเมืองพะเยา และหนังสือประวัติศาสตร์ เมืองพะเยาเผยแพร่หลายเล่ม พระครูอนุรักษ์บุรานันท์ (บุญชื่น ฐิตธมฺโม) เกิด พ.ศ.2482 ที่บ้านแม่ต๋ำสายใน ต.แม่ต๋ำ อ.เมือง จ.พะเยา บรรพชา พ.ศ.2497 อุปสมบท พ.ศ.2503 เก็บรวมรวมโบราณวัตถุไว้ที่วัดแม่ต๋ำเมืองชุม ต่อมาเมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดลีก็ขนย้ายโบราณวัตถุมาไว้ที่วัดลีเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์วัดลี   จนถึง พ.ศ.2549 จังหวัดพะเยาได้มีโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี) นำโบราณวัตถุในวัดลีจัดทำทะเบียนและจัดแสดงในอาคารเปิดตั้งแต่ พ.ศ.2551 ทั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ และพิพิธภัณฑ์เวียงพะเยา วัดลีถือเป็นแหล่งที่มีโบราณวัตถุเมืองพะเยาที่สำคัญยิ่ง   ของดีในพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี)           1.ศิลาจารึก พะเยามีศิลาจารึกจำนวนมาก หลักที่มีสภาพสมบูรณ์อยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร   หลักที่มีสภาพรองลงมาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ลำพูน เมื่อมีการลงทะเบียนจารึกจึงใช้อักษรย่อตามแหล่งที่เก็บ เช่น เก็บไว้ที่ลำพูนก็ลงทะเบียนจารึกว่า “ลพ.”           จารึกจากพะเยาหลักหนึ่งคือ   ลพ.9  เป็นจารึกสำคัญจารึกรายชื่อกษัตริย์ราชวงศ์มังรายตั้งแต่พญามังรายถึงพญาสามฝั่งแกน และการแต่งตั้งเจ้าเมืองพยาว การสร้างวัดสำคัญในพะเยา   เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญยืนยันว่า (1)พญาติโลกราช เป็นกษัตริย์องค์ที่ 9 ของราชวงศ์มังราย เพราะพญาสามฝั่งแกน พระราชบิดาของพญาติโลกราช นับพระองค์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 8   (2)พญาสามฝั่งแกน ครองราชย์เมื่อ อายุ 13 ปี ด้วยการสนับสนุนของพระนางติโลกจุฑาเทวี มเหสีของพญาแสนเมืองมาผู้อยู่ในตำแหน่งมหาเทวีและอาวเลี้ยง  จึงตอบแทนอาวเลี้ยงโดยแต่งตั้งอาวเลี้ยงให้ดำรงตำแหน่งเจ้าสี่หมื่นครอง “เมิงพยาว” (3)เจ้าสี่หมื่น เจ้าเมืองพยาวและมหาเทวี เป็นประธานสร้างวัดพระสุวรรณมหาวิหาร แล้วกัลปนาเป็นที่นา 21,685 แปลง (ราคา 4,686,000)หมากหมื่นคำเศษ ข้าวัด 187 บ้าน 246 เรือน ให้วัดพระสุวรรณมหาวิหาร           ในพะเยาทั้งที่วัดศรีโคมคำและวัดลีจึงเหลือจารึกที่ชำรุดแต่ล้วนมีคุณค่า เช่น จารึกลาวงำเมือง (พย.54) เศษจารึกขนาดกว้าง 26.5 ซม. สูง 12 ซม.หนา 5.5 ซม.พบที่วัดสบร่องขุย  จารึกด้วยอักษรฝักขามมีชื่อลาวงำเมือง และพญาร่วง แม้ขาดชื่อพญามังรายไปเพราะจารึกชำรุด ก็บ่งบอกให้เห็นว่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของสามกษัตริย์เป็นเรื่องที่มีหลักฐานประวัติศาสตร์ประเภทจารึกรองรับเพิ่มเติมจากหลักฐานประเภทตำนาน เช่น ชินกาลมาลินี หรือชินกาลมาลีปกรณ์  จารึกหลักนี้เก็บรักษาไว้ที่วัดลี  ต่อมาเมื่อพบเครื่องปั้นดินเผาที่แหล่งเตาเวียงบัว  ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา ตรวจด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่ามีอายุถึงยุคลาวงำเมือง  ทำให้ยุคพญางำเมืองมีทั้งหลักฐานเกี่ยวกับการเมืองและเศรษฐกิจ           จารึกสำคัญของวัดคือจารึกวัดลี เป็นจารึกอักษรฝักขาม กว้าง 52 ซ.ม. สูง 96 ซ.ม. หนา 17 ซ.ม. ระบุว่า สร้างโดยเจ้าสี่หมื่น ผู้เป็นราชครูของพญายอดเชียงราย เมื่อ พ.ศ.2038 ปีดังกล่าวเป็นปีที่พระเจ้ายอดเชียงรายสวรรคต  จึงอาจเป็นการสร้างเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล  จารึกหลักนี้เป็นหลักฐานสำคัญยืนยันความเป็นมาของวัดลีเช่นเดียวกับจารึกวัดศรีสุพรรณที่เชียงใหม่ ซึ่งพญาเมืองแก้วและพระราชมารดา โปรดฯให้หมื่นจ่าคำรังการสร้างวัด เมื่อ พ.ศ.2043 ซึ่งมีวัดจำนวนไม่มากที่พบจารึกประวัติวัด   2.จารึกและพระพุทธรูปที่พบที่วัดติโลกอาราม กลางกว๊านพะเยา กว๊านพะเยาเพิ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่กลางเมืองพะเยาตั้งแต่ พ.ศ.2482 เมื่อมีการสร้างประตูกั้นน้ำที่สถานีประมงน้ำจืดพะเยา  ช่วงก่อนหน้านั้นเป็นเส้นทางผ่านของน้ำแม่อิง  น้ำแม่ใส น้ำแม่ไฮมีหนองน้ำ เช่น หนองเต่า  หนองเอี้ยง ฯลฯ และมีวัดร้างหลายวัด  เมื่อครั้งน้ำเต็มกว๊าน ในปี พ.ศ.2550 กรมศิลปากรได้สำรวจโบราณคดีใต้น้ำพบร่องรอยวัดร้าง  หนองน้ำที่สำคัญได้พบจารึกแผ่นหินทรายสีเทาคล้ายใบเสมา สภาพชำรุด ขนาดกว้าง 36 ซ.ม. สูง 30 ซ.ม. หนา 7 ซ.ม.     เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2550  ณ บริเวณเนินสันธาตุ ใกล้ท้ายบ้านร่องไฮ ต.แม่ใส อ.เมือง  จ.พะเยา เดิมชาวบ้านเรียกสันธาตุ หรือวัดบวกสี่แจ่ง เมื่อพบจารึกก็ทราบชื่อวัดแห่งนี้ว่าชื่อ วัดติโลกอาราม ครั้นนั้นได้นำจารึกและพระพุทธรูปที่พบจากวัดติโลกอารามไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์วัดลี  มีการฟื้นวัดติโลกอารามเป็นวัดกลางกว๊านพะเยาเป็นสถานที่ทำบุญเวียนเทียนกลางกว๊านในวันมาฆบูชา (เป็งเดือนห้า) ตั้งแต่นั้นมา จารึกที่พบ ณ เนินสันธาตุ กลางกว๊านพะเยาเขียนด้วยอักษรฝักขาม เขียน 2 ด้าน ด้านหนึ่งเหลือ 11 บรรทัด อีกด้านเหลือ 12 บรรทัด กล่าวถึงความเป็นมาของการสร้างวัดติโลกอาราม ที่หนองเตา สมัยพระญายุธิษฐิระ “ลูกพระเป็นเจ้า”(โอรสบุญธรรม) ของพระเจ้าติโลกราช มีการผูกพัทธสีมาและบวชพระภิกษุ 4 รูป ครั้งนั้น พระเป็นเจ้า(พระเจ้าติโลกราช) ได้ถวายพระพุทธรูป 1 องค์ พร้อมถวายที่นา  เงินจำนวน 1 ล้านเบี้ย ข้าวัดจำนวน 5 ครัว  โดยมีรายชื่อพระสังฆาธิการจากหลายวัดในเมืองพะเยา  ผู้สนใจจารึกหลักนี้เข้าชมได้ที่พิพิธภัณฑ์วัดลี โดยมีคำอ่านติดไว้ที่แท่นตั้งทุกหลักที่จัดแสดง ช่วงปลายปี พ.ศ.2558-พ.ศ.2559 ประเทศไทยประสบภัยเอลนีโญเกิดความแห้งแล้งหนัก บริเวณกว๊านพะเยา น้ำแห้ง กลายเป็นบ่อโคลน  มองเห็นเนินดินที่เป็นซากโบราณสถาน โบราณวัตถุจำนวนมาก หลายแห่งในการสำรวจเมื่อเมษายน 2559 พบร่องรอยวัดโลกติลกสังฆาราม  วัดโบราณขนาดใหญ่อยู่ไม่ไกลจากวัดติโลกอาราม ค่อนไปทางเหนือ  พบฐานเสาวิหารทำด้วยหินทราย  กระเบื้องดินขอ เศษเครื่องปั้นดินเผาเคลือบ ส่วนหนึ่งมาจากแหล่งเตาบ้านโป่งแดง อ.พาน จ.เชียงราย แหล่งเตาเวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย พบร่องน้ำที่ไหลลงน้ำแม่อิง พบร่องรอยหนองใหญ่ที่เรียกว่า “หนองเต่า” พ.ศ.2560 กรมศิลปากรมีโครงการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีบ้านร้องไฮ ต.แม่ใส อ.เมือง  จ.พะเยา บริเวณริมกว๊านพะเยาด้านใต้ โดยเฉพาะบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “สันธาตุหน่อแก้ว” พบฐานวิหารขนาดใหญ่ ฐานอุโบสถโดยมีพัทธสีมาหัวรูปบัวตูมเรียงราย  พบพระพุทธรูปบนฐานชุกชีประมาณ 4 องค์ นอนทับกัน ต้นปี พ.ศ.2561 คุณวิวรรณ แสงจันทร์ นักโบราณคดีนำผู้เขียน และ ศ.สรัสวดี ชมแหล่งโบราณคดีบ้านร่องไฮ และบริเวณที่พบพระพุทธรูปบนฐานชุกชี  เห็นว่าเป็นจุดแข็งอีกจุดหนึ่งนอกเหนือจากวัดติโลกอารามกลางกว๊านแล้ว  บริเวณนี้ควรได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อให้คนในเมืองพะเยาและผู้สนใจเข้ามานมัสการ  โดยต้องมีงบประมาณจำนวนหนึ่งสำหรับป้องกันน้ำท่วม แต่โครงการขุดค้นและขุดแต่งก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน  โดยมีการนำพระพุทธรูปและโบราณวัตถุทั้งหมดขึ้นเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุฯ พะเยา เพื่อเตรียมนำส่งเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เชียงแสนตามระเบียบของกรมศิลปากรต่อไป เมื่อผู้เขียนได้เห็นจารึกและพระพุทธรูปของวัดติโลกอารามที่เก็บรักษาและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดลีเมื่องานเป็งเดือนห้า  จึงมีความคิดใคร่ขอเสนอต่อจังหวัดพะเยา ให้ทำหนังสือราชการถึงกรมศิลปากร ขออนุญาต “ยืม” พระพุทธรูปและโบราณวัตถุที่พบในบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “สันธาตุหน่อแก้ว”  จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว วัดลี  เพื่อประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีเวียงพะเยาของคนในพะเยา เพราะทั้งวัดติโลกอาราม  และบริเวณริมกว๊านที่ชาวบ้านเรียก “สันธาตุหน่อแก้ว” และแหล่งโบราณคดีบ้านร่องไฮ อาจเป็นเขตที่เรียกว่า “โลกติลกสังฆาราม” โดยมีวัดใหญ่อีกวัดคือ วัดโลกติลกสังฆารามในบริเวณกว๊าน รอการฟื้นฟู   อาณาบริเวณดังกล่าวเป็นยุคสมัยที่พระเจ้าติโลกราชกษัตริย์แห่งล้านนาโปรดฯให้พระญายุธิษฐิระ เจ้าเมืองสองแควที่เข้ามาสวาภิภักดิ์ดำรงตำแหน่งเจ้าสี่หมื่นปกครองพะเยา   เป็นการเพิ่มจุดแข็งของเมืองพะเยาก่อนที่จะมีการส่งพระพุทธรูปที่พบเข้าเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์เชียงแสนตามระเบียบของกรมศิลปากร   3.พระบฏหรือพระบต ที่เขียนเรื่องราวทศชาติชาดก สมัยเทศาภิบาล โดยทั่วไป “พระบฏ”หรือพระบต เป็นภาพเขียนพระพุทธเจ้าบนแผ่นผ้าองค์เดียว เช่น พระบตของวัดป่าชี่(อ่านว่าวัดป่าจี้)  จ.เชียงใหม่ ซึ่งนำมาใช้ในพิธีไหว้ผีปู่เสะย่าเสะทุกปี   หรืออาจมีพระสาวกองค์สำคัญคือพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรอยู่ข้างพระพุทธองค์ ดังเช่น พระบต ของวัดพระนอนขอนม่วง อำเภอแม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งพระเจ้าอินทวโรรสกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมีโปรดฯ ให้ปักบนแผ่นผ้าถวายวัด แต่พระบตในพิพิธภัณฑ์เวียง พยาว วัดลีจัดแสดงแตกต่างจากทุกแห่งที่เคยเห็นมา เพราะพระบตที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว วัดลีเป็นภาพเขียนเรื่องทศชาติชาดกบนแผ่นผ้า เป็นภาพเขียนบนแผ่นผ้าในสมัยเทศาภิบาล ดังนั้นตัวเอกในแต่ละชาติมีคนแต่งกายชุดข้าราชการสยามแทรกอยู่ด้วย  ผู้เขียนภาพคงเป็นไทใหญ่ในพะเยาเพราะเขียนคำอธิบายภาพด้วยภาษาไทใหญ่และหลายภาพมีชาวบ้านแต่งกายชุดไทใหญ่  หากนับว่าภาพเขียนทศชาติบนแผ่นผ้าเป็น “พระบต” ตามคำอธิบายงานที่จัดแสดงก็นับเป็นพระบตหรือพระบฏ ที่มีเรื่องราวทศชาติชาดกและแทรกยุคสมัยเทศาภิบาลชุดแรกที่ได้พบ   รองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล ที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์ โครงการจัดทำแผนและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า พะเยา 1
เผยแพร่เมื่อ 22 เมษายน 2563 • การดู 10,530 ครั้ง