ภูมิปัญญาเชิงช่าง

ความรู้ด้านเทคนิควิธีเชิงช่างของสล่าล้านนา(ช่าง) ในด้านงานก่อสร้าง และซ่อมแซมเรือนโบราณล้านนา

พบทั้งหมด 19 รายการ
 
 
สาดแหย่ง (เสื่อคล้า) EP.2
สาดแหย่ง (เสื่อคล้า) EP.2
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเสื่อคล้า (สาดแหย่ง) บ้านปากคลอง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ บูรณาการร่วมกันเพื่อทำโครงการร่วมจัดการวัฒนธรรมชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจชุมชน บ้านปากคลอง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้กระบวนการพัฒนา และการคิดเชิงสร้างสรรค์ เพื่อออกแบบต่อยอดผลิตภัณฑ์จากเสื่อแหย่ง(คล้า) ยกระดับการออกแบบผลิตภัณฑ์/บริการ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอย่างมีคุณภาพให้แก่ชุมชน
เผยแพร่เมื่อ 30 เมษายน 2567 • การดู 188 ครั้ง
สาดแหย่ง (เสื่อคล้า) EP.1
สาดแหย่ง (เสื่อคล้า) EP.1
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเสื่อคล้า (สาดแหย่ง) บ้านปากคลอง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ บูรณาการร่วมกันเพื่อทำโครงการร่วมจัดการวัฒนธรรมชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจชุมชน บ้านปากคลอง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้กระบวนการพัฒนา และการคิดเชิงสร้างสรรค์ เพื่อออกแบบต่อยอดผลิตภัณฑ์จากเสื่อแหย่ง(คล้า) ยกระดับการออกแบบผลิตภัณฑ์/บริการ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอย่างมีคุณภาพให้แก่ชุมชน
เผยแพร่เมื่อ 30 เมษายน 2567 • การดู 378 ครั้ง
ข้อเเตกต่างระหว่างหลังคากระเบื้องดินขอเเละหลังคาเเป้นเกล็ด
ข้อเเตกต่างระหว่างหลังคากระเบื้องดินขอเเละหลังคาเเป้นเกล็ด
ข้อเเตกต่างระหว่างหลังคากระเบื้องดินขอเเละหลังคาแป้นเกล็ด ดินขอ ทำมาจากดินเหนียวเนื้อละเอียด เป็นเครื่องปั้นดินเผา น้ำหนักเบา มีขนาดเล็ก บางเรียบ ปลายด้านหนึ่งหักงอคล้ายตะขอ ใช้สำหรับเกาะไม้ก้านฝ้าที่ยึดติดกับโครงสร้างหลังคาปั้นแล้วเผาไฟ มีคุณสมบัติกันน้ำรั่วซึมได้ มีอายุการใช้งานนาน ทนต่อความร้อนและความชื้น แต่เปราะแตกง่าย ดินขอมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า ถ้าดินขอ รุ่นเก่าเนื้อดีจะมีอายุการใช้งานกว่า 100 – 200 ปี   แป้นเกล็ด ส่วนใหญ่ทำจากไม้สัก นำมาถากเป็นแผ่นให้มีรอยริ้วไม้เพื่อให้น้ำไหลลงได้สะดวก มีอายุการใช้งานนาน ทนต่อแรงกระแทก บ้านที่มีหลังคาแป้นเกล็ดจะชื้น หลังคาเเป้นเกล็ดจะผุพังง่ายจากความชื้นและความร้อน อายุการใช้งาน 70-80 ปี ไม่ถึง 100 ปี ข้อดี : ลูกเห็บ กิ่งไม้ตก ไม่แตก ข้อเสีย : ผุ เปื่อยง่าย ข้อมูลโดย นางสาวฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ่านเเหล่งความรู้ออนไลน์เพิ่มเติมได้ที่ : https://art-culture.cmu.ac.th/Lanna/artisanWisdom
เผยแพร่เมื่อ 17 มกราคม 2566 • การดู 2,391 ครั้ง
5 ชนิดไม้ ที่คนล้านนานิยมนำมาทำเป็นที่อยู่อาศัย
5 ชนิดไม้ ที่คนล้านนานิยมนำมาทำเป็นที่อยู่อาศัย
5 ชนิดไม้ ที่คนล้านนานิยมนำมาทำเป็นที่อยู่อาศัย ทั้งโครงสร้าง หลังคา แป้นเกล็ด คาน ตง พื้น ฝา ประตู หน้าต่าง . ไม้ 5 ชนิดนี้ สล่า(ช่าง)ที่เป็นคนชำนาญในการปรุงเรือน แค่ดูลายก็จะสามารถจำแนกได้แล้วว่าเป็นชนิดใด หลังจากที่แปรรูปมาแล้ว แต่สล่า(ช่าง) ที่มีความชำนาญไปอีก ในกรณีที่ไม้ถูปแปรรูปนานแล้วเกิดคราบตะไคร่ขึ้น ดำ จำแนกด้วยสายตาแล้วยังยาก จะมีอีกวิธีในการจำแนกคือการดมกลิ่นของไม้ ทั้ง 5 ชนิด ที่อยู่ในภูมิประเทศของล้านนา แล้วก็อยู่ในวัฒนธรรมการใช้สอยของคนล้านนามาเนิ่นนาน ซึ่งเชื่อว่ามากกว่าพันปี ก็คือไม้สัก ไม้ประดู่ป่า ไม้แดง ไม้เต็ง(ไม้แงะ) ไม้รัง (ไม้เปา) ไม้สัก (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tectona grandis Linn F.) เป็นต้นไม้ท้องถิ่นล้านนาอยู่ในเบญจพรรณ เนื้อไม้มีความแข็งปานกลาง 493 กิโลกรัม คนล้านนาในอดีตนิยมนำมาทพโครงสร้างหลังคา กระเบื้องแป้นเกล็ดมุงหลังคา ทำพื้น ทำผนัง ประตู หน้าต่าง เนื่องจากเนื้อไม้มีความทนทานมอดแมลงไม่กิน เลื่อยไสตกแต่งได้ง่าย เนื้อไม้มีความสวยงาม มีกลิ่นหอม ไม้ประดู่ป่า (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterocarpus macrocarpus Kurz) เป็นต้นไม้ท้องถิ่นแผ่นดินล้านนาอยู่ในป่าเบญจพรรณ เนื้อไม้ประดู่ป่า มีความแข็งมาก 926 กิโลกรัม มีลวดลายสวยงามสีออกแดงปนส้ม คนล้านนาในอดีตนิยมนำมาทำเสาเรือน โครงสร้างพื้น แวง(คาน) ตง และแปรรูปเป็นแผ่นทำเป็นพื้นกระดานเรือน เนื่องจากมีลายไม้ที่สวยงาม บางทีก็นำไปทำวงกบประตูหน้าต่างด้วย ไม้เต็ง (แงะ) (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea obtuse wall) เป็นไม้ท้องถิ่นในแผ่นดินล้านนา ขึ้นอยู่ตามป่าเต็ง-รัง (ป่าแพะ) เป็นไม้เนื้อแข็ง 964  กิโลกรัม คนล้านนาในอดีตนิยมนำมาทำเสาเรือน เนื่องจากไม้มีความแข็งแรง ทนทาน มอดและแมลงไม่รบกวน ไม้แดง (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Xylia xylocarpa Taub) เป็นต้นไม้ท้องถิ่นในแผ่นดินล้านนา ขึ้นอยู่ตามป่าเบญจพรรณ เป็นไม้เนื้อแข็ง มีความแข็ง 1,030 กิโลกรัม มีลวดลายสวยงาม สีแดงคล้ำๆ คนล้านนานิยมนำมาทำเสาเรือน โครงสร้างพื้น แวง(คาน) ตงและแปรรูปทำเป็นกระดานพื้นเรือน เมื่อใช้ไปนานๆ จะมันแวววาวน่าสัมผัส และมีความคงทน มอดแมลงไม่รบกวน ไม้รัง (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea siamensis Miq) เป็นไม้ท้องถิ่นในแผ่นดินล้านนา ขึ้นอยู่ในป่าเต็ง-รัง (ป่าแพะ) เนื้อไม้มีความแข็ง 755 กิโลกรัม สามารถเลื่อย ไสตกแต่งง่าย ลื่นมือตอนทำการแปรรูป คนล้านนาในอดีต นิยมนำมาทำเป็นเสาเรือน โครงสร้างพื้นเรือน แวง(คาน) ตง เนื่องจากมีความแข็งและเหนียวทนทาน สามารถเข้าชมนิทรรศการภูมิปัญญาสล่าสร้างเรือน ณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  
เผยแพร่เมื่อ 20 ตุลาคม 2565 • การดู 5,020 ครั้ง
ขั้นตอนการก่อสร้างเเละประกอบเรือนไม้
ขั้นตอนการก่อสร้างเเละประกอบเรือนไม้
ขั้นตอนในการก่อสร้างและประกอบเรือนไม้ ในอดีตการสร้างเรือนขึ้นอยู่กับฐานะของผู้สร้าง หากเป็นคหบดีที่มีฐานะดีจะสร้างเรือนใหญ่ด้วยไม้จริงทั้งหลัง ส่วนชาวบ้านทั่วไปนิยมสร้างเรือนด้วยไม้ไผ่ผสมกับไม้จริง โดยมีโครงสร้างเรือน เช่น เสา ขื่อ แวง เป็นไม้จริง ส่วนฝาและพื้นเรือนทำมาจากไม้ไผ่สับฟาก ในอดีตการประกอบเรือนไม้จะใช้การตอกลิ่มและสวมเดือย ซึ่งต้องมีการเจาะช่องหรือบากไว้ก่อน   1.ขุดหลุมปกเสา และเบงเสา หลังจากที่ขึ้นเสาทุกต้นเรียบร้อยแล้ว ใช้ลูกดิ่งวัดความตรงของเสาให้ตั้งฉาก 45 องศากับพื้นแล้วนำไม้ไผ่มายึดเสาทุกต้นให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องคนล้านนาเรียกว่า “เบงเสา” จะช่วยยึดและค้ำยันเสาไว้อย่างชั่วคราวไม่ให้ล้มหรือเอียงขณะที่เริ่มประกอบส่วนอื่นๆของเรือนแล้วจึงขึ้นเสานางและเสาบริวารทั้งหมดตามลำดับ   2.ประกอบโครงสร้างเรือน นำส่วนประกอบของเรือนที่เป็นโครงสร้างหลักคือ ขื่อแป๋หัวเสา ต๋ง แวง(รอด)มาประกอบกันตามช่องที่เจาะไว้โดยส่วนที่เป็นโครงสร้างด้านบนคือ ขื่อ วางในแนวขวาง แป๋วางในแนวยาวของเรือน และส่วนที่อยู่กลางเรือน คือแวง วางในแนวขวางและต๋งเป็นไม้ขนาดเล็กกว่าแวงวางในแนวยาวตามเรือนเพื่อรองรับไม้พื้นเรือน   3.ขึ้นโครงหลังคา วางไม้ดั้งที่มีลักษณะเป็นแท่งไม้ตั้งวางไว้ขนานกับขื่อ 90องศา จากนั้นจึงประกอบตั้งโย้ (จันทัน)ให้เป็นจั่วสามเหลี่ยมแล้วใส่แปจ๋องด้านบนสุดเพื่อยึดโครงหลังคา เพิ่มก้าบ(แปลาน) วางในแนวยาวตามตัวเรือนเพื่อช่วยรับน้ำหนักหลังคา   4.ใส่ก๋อน ใส่ไม้ก้านฝ้า ไม้ก๋อนมีขนาดเล็กและบางกว่าไม้ก้าบ วางซ้อนตัดกับก้าบเพื่อช่วยถ่ายเทน้ำหนักของหลังคา ใส่ไม้ก้านฝ้า ไม้ก้านฝ้าเป็นแท่งไม้มีขนาดเล็กและบางมาก วางยึดติดกับก๋อนในแนวตัดกัน เว้นระยะช่องว่างไม่มากนัก เพื่อนำหลังคาดินขอมาเกาะกับไม้ก้านฝ้าได้   5.มุงหลังคา ลักษณะของดินขอเป็นแผ่นบางๆ ตรงหัวดินขอมีที่สำหรับยึดเกาะติดกับไม้ได้นำกระเบื้องดินขอมาวางซ้อนกันจนเต็ม   6. เก็บรายละเอียดหลังคาและปูไม้แป้น นำไม้มาปิดในส่วนที่เป็นจั่วหลังคาให้เรียบร้อย และทำกันสาดยื่นออกมาด้านหน้าจั่ว เพื่อป้องกันลมและฝน พร้อมกับปูพื้นด้วยไม้กระดาน โดยวางตามแนวขวางของตัวเรือน   7. ตีฝา เก็บรายละเอียดของชานบ้านและส่วนของบันได มักจะทำหลังสุด เมื่อตัวบ้านสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ตามโบราณยึดถือปฏิบัติมาก็จะต้องหาฤกษ์ยามหรือ “มื้อจั๋นวันดี” สำหรับพิธีขึ้นเรือนใหม่ เพื่อให้สมาชิกในบ้านอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป อีกทั้งยังถือเป็นการเลี้ยงขอบคุณผู้อุทิศแรงงานมาช่วยกันสร้างเรือนให้จนแล้วเสร็จอีกทางหนึ่งด้วย    
เผยแพร่เมื่อ 7 ตุลาคม 2565 • การดู 5,220 ครั้ง
หลังคาของเรือนล้านนา
หลังคาของเรือนล้านนา
หลังคา หลังคา เป็นส่วนประกอบสำคัญของเรือน สำหรับป้องกันแดด ฝน ลม ฝุ่น ไม่ให้เข้ามาในตัวเรือน หลังคาของเรือนล้านนาสามารถบอกยุคสมัย และที่มาของเรือนแต่ละแบบได้ ส่วนใหญ่แล้ว มักพบ 3 รูปแบบหลังคา คือ หลังคาทรงจั่ว หลังคาทรงมะนิลา และหลังคาทรงปั้นหยา หลังคาทรงจั่ว เป็นหลังคาที่เหมาะสมกับสภาพอากาศแถบร้อนชื้นมากที่สุด เพราะสามารถระบายน้ำฝนได้ดี และอากาศหมุนเวียนถ่ายเทในตัวเรือนได้สะดวก เรือนล้านนาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว มักทำจั่วเรือนขนาดใหญ่ และลาดคลุมลงมาถึงฝาเรือน ภายในหลังคาไม่ปิดฝ้าเพดาน เพื่อให้ระบายอากาศ หลังคาทรงมะนิลา เป็นลูกผสมระหว่างทรงหน้าจั่วและทรงปั้นหยา มีหน้าจั่วขนาดเล็กเป็นช่องอากาศซึ่งช่วยในการถ่ายเทอากาศได้ หลังคาทรงนี้เป็นที่นิยมสร้างในกลุ่มเรือนพื้นถิ่นล้านนาซึ่งมีอายุประมาณ 70-80 ปี ทั้งนี้ยังนิยมสร้างเรือนในกลุ่มไทลื้อ ไทเขิน ไทยอง สันนิษฐานว่าหลังจากที่กลุ่มคนไทเหล่านี้อพยพเข้ามาในล้านนาก็นำรูปแบบเรือนที่เคยอาศัยมาสร้างในล้านนาด้วย หลังคาทรงปั้นหยา เป็นหลังคาไม่มีจั่ว คลุมในทุกทิศทางของตัวเรือน เป็นรูปแบบหลังคาที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกที่เข้ามาในล้านนา ช่วงประมาณรัชกาลที่ 5 ซึ่งเรือนที่สร้างด้วยหลังคาทรงนี้ก็มักจะเป็นเรือนทรงอาณานิคมตะวันตก เขียนโดย : นางสาวฐาปนีย์ เครือระยา (หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมศิลปวัฒธรรม สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.)
เผยแพร่เมื่อ 5 สิงหาคม 2564 • การดู 8,838 ครั้ง
กาแล
กาแล
 กาแล           เป็นไม้แกะสลักประดับอยู่ส่วนบน เหนือสุดของจั่วหลังคา เรือนล้านนาที่มีการประดับด้วยกาแล จึงถูกเรียกว่า “เรือนกาแล” ลักษณะของเรือนกาแล คือเรือนไม้ของชาวไทยวน นิยมสร้างด้วยไม้จริงมีพื้นที่ตัวเรือน เติ๋น ชาน ครัวไฟ ตัวเรือนยกพื้นใต้ถุนสูง มีทั้งแบบจั่วเดียว และจั่วแฝด ในอดีตที่ผ่านมามีผู้ศึกษาความเป็นมา และรูปแบบของกาแลไว้หลายประเด็น พอจะสรุปได้ดังนี้[1] ป้องกันแร้งและกามาเกาะหลังคา ทางเหนือถือว่าถ้าแร้งหรือกาเกาะหลังคาถือว่าจะเป็นอัปมงคล เมื่อกาแลเห็นไม้กาแล ก็จะไม่กล้าเกาะที่หลังคา[2] ช่วงที่พม่าปกครองล้านนาเป็นเมืองขึ้น ต้องการไม่ให้คนล้านนาคิดทรยศ จึงใช้กาแลเป็นเครื่องรางกดไว้ ซึ่งเอาคติมาจากคติการฝังศพในสมัยก่อนที่จะใช้หลักปักไขว้กันไว้บนหลุมฝังศพ เป็นการข่มศพไม่ให้หนีหาย[3] เป็นไม้สัญลักษณ์ที่มีลักษณะของเขากระบือ ดังที่อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ กล่าวไว้ว่าคงสืบเนื่องมาจากประเพณีฆ่ากระบือเพื่อบวงสรวงผีบรรพบุรุษ จึงได้มีการนําเอาเขากระบือขึ้นไปประดับไว้บนยอดหลังคาเพื่อแสดงฐานะร่ำรวยของเจ้าของเรือนนั้นด้วย ในที่สุดจึงได้กลายเป็นประเพณีการทํากาแลขึ้นแทนเขากระบือ[4] วิวัฒนาการที่สืบต่อมาจากกระท่อมหรือเรือนไม้ไผ่ขนาดเล็ก โดย ศ.นพ.เฉลียว ปิยชน[5] เสนอว่าเรือนในสมัยโบราณสร้างไม้ปั้นลมไม้ไผ่ไขว้กัน เพื่อให้ตัวเรือนมั่นคงแข็งแรงต่อมา เมื่อใช้ไม่จริงในการสร้างจึงมีวิวัฒนาการการแกะสลักลวดลายจนดูสวยงาม การสืบทอดมาจากหลังคาบ้านของชนเผ่าลวะ ซึ่งอยู่ในดินแดนเชียงใหม่นี้มาก่อน และเสนอว่าควรจะเรียก “กะแล” มากกว่า “กาแล”[6] โดยสันนิษฐานว่าแผลงมาจากคํา “กะแหล้” ของลัวะ ทั้งนี้อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ กล่าวว่าไทยวนในภาคเหนือเรียกว่า กาแล (นกกาชําเลืองดู) ส่วนชาวไทยวน ในจังหวัดราชบุรีเรียกว่า แกแล (นกแกชําเลืองดู) ซึ่ง ศ.นพ.เฉลียว ปิยชน มีความเห็นว่าถ้าเรียกให้ตรงตามสําเนียง คนเมืองน่าจะเป็น “กะแหล” หรือ “กาแหล”  หรือ “กแล” แล้วแต่จะลากเสียงให้สั้นหรือยาว มากกว่าที่จะเรียก “กะแล”   จากข้อสันนิษฐานหลายประเด็นต่างก็ให้เหตุผลที่ต่างกัน ซึ่งอนุมานได้เป็น 2 กลุ่มคือ เชื่อในเรื่องสัญลักษณ์ และการใช้งานด้านโครงสร้าง หากการอ้างว่าพม่าบังคับให้ทําก็ดูไม่สมเหตุสมผล เพราะยังไม่มีหลักฐานว่าเรือนของพม่ามีกาแลหรือไม่ และเมื่อล้านนาเป็นเอกเทศไม่ได้อยู่ในการควบคุมของพม่าแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่ต้องสร้างกาแลติดไว้บนเรือนอีกต่อไป   ส่วนการอ้างว่าเป็นสัญลักษณ์ของเขากระบือและกันนกเกาะหลังคานั้น น่าจะเป็นการประจวบเหมาะมากกว่า ดังนั้นเหตุผลในด้านโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมจึงมีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะก่อนที่จะปลูกสร้างเรือนไม้จริงขึ้นมา ชาวล้านนาอยู่อาศัยในเรือนไม้บั่วมาก่อน ซึ่งการประกอบชิ้นส่วนโครงสร้างของไม้ไผ่ใช้วิธีการมัด ยึดติด และเจาะรูใส่สลัก การทำป้านลม(ปั้นลม) ปิดด้านหน้าของหลังคาก็ต้องทำไม้ยาวยื่นออกมาไขว้กันบนยอดจั่วหลังคา เพื่อให้ยึดติดกันได้แน่นและแข็งแรง เมื่อสังคมเจริญขึ้นจนมีเครื่องมือที่สามารถตัดเลื่อยไม้จริงให้มีขนาดเหมาะสมกับการสร้างเรือนแล้ว จึงเปลี่ยนจากไม้ไผ่มาใช้ไม้จริงจำพวก ไม้สัก ไม้เต็ง ไม้เหียง ไม้แดง มาสร้างเรือนในรูปทรงเดิม ลักษณะของไม้ไผ่ไขว้กันบนยอดหลังคาที่ทำขึ้นเพื่อให้หลังคาแข็งแรง กลายเป็น “กาแล” ที่ทำมาจากไม้จริงแกะสลักประดับหลังคาแทน การมีป้านลมไขว้กันแบบนี้ยังพบได้จากเรือนของชาวไทดำ และไทขาว(ไทด่อน) ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ซึ่งเรียกกันว่า “เขากุด”[7] ทั้งนี้ยังพบเรือนของคนในอินเดีย(ในรัฐอัสสัม และนาคา) พม่า (ในรัฐไทใหญ่ กะฉิ่น) ลาว ญี่ปุ่น เรือนลาวครั่ง บ้านทุ่งนาตาปิ่น ตําบลด่านช้าง อําเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี บ้านของชาวไทยวนที่อําเภอเมืองราชบุรี และบ้านของชาวเขาอีกหลายเผ่าก็ปรากฏหลักฐานว่ามีกาแล ซึ่งพอสรุปได้ว่าไม้ไขว้กันนี้น่าจะเป็นลักษณะร่วมกันของโครงสร้างมากกว่าการเป็นเอกลักษณ์ทางความเชื่อของแต่ละแห่ง[8]       [1] มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. (2542). สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 1. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรม   ไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 236. [2]กรมยุทธโยธาทหารบก บรรณาธิการ. (2514). เรือนไทยโบราณทางภาคเหนือ เรือนไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมยุทธโยธาทหารบกหน้า. หน้า 2. [3]เสนอ นิลเดช. (2521). เรือนไทยโบราณทางภาคเหนือ. ศิลปะลานนาไทย. ที่ระลึกในงานฌาปนกิจ นายจารึก พงศ์พิพัฒน์ นางทิพย์ พงศ์พิพัฒน์ ณ      วัดเทพศิรินทร์ กรุงเทพฯ. หน้า 174. [4] ไกรศรี นิมมานเหมินท์. (2521). เรือนแบบลานนาไทย, ศิลปะลานนาไทย. กรุงเทพฯ : ม.ป.ท.. หน้า 155-156. [5] เฉลียว ปิยะชน. (2537). เรือนกาแล (พิมพ์ครั้งที่ 2). เชียงใหม่ : สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยชัยงใหม่. หน้า 151. [6] อนุสรณ์ สิทธิราษฎร์. (2529). กะแลหรือกาแลกันแน่. วารสารศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 7(ฉบับที่ 11), หน้า 44-45. [7] ฐาปนีย์ เครือระยา. (2560). การสร้างถิ่นฐาน บ้าน และเรือนคนไทดำและไทขาวในเวียดนาม. วารสารข่วงผญา : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สืบสานองค์ความรู้ของชุมชน. ปี พ.ศ. 2560(ฉบับที่ 12), หน้า 142-143. [8] มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย. (2542). สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 1. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย. หน้า 236.
เผยแพร่เมื่อ 10 มิถุนายน 2564 • การดู 42,778 ครั้ง
หำยนต์ (หัมยนต์) เเผ่นไม้เเกะสลัก
หำยนต์ (หัมยนต์) เเผ่นไม้เเกะสลัก
  “หำยนต์”  หรือ “หัมยนต์” เป็นแผ่นไม้แกะสลักที่มีขนาดเท่ากับความกว้างของประตู วางอยู่เหนือกรอบประตูห้องนอนของเรือนล้านนา  ซึ่งคำว่า “หำยนต์” หากเขียน “หำยน” ตามที่พบทั่วไปนั้น มักได้รับคําอธิบายว่าเป็นคําซึ่งประกอบด้วย หำ และ ยนต์ บางคนเรียก หำโยน หรือห้ามโยน ก็มี โดยที่มาของหำยนต์ พอจะสรุปได้ 2 ประเด็น คือ เป็นภาษาล้านนาที่มาจากการผสม 2 คำ คือ “หำ” และ “ยน”  โดยคำว่า “หำ” แปลว่า “อัณฑะ”หมายถึงสิ่งรวมพลังของบุรุษชน ส่วนคำว่า “ยนต์” น่าจะมาจาก “ยนตร” หรือ “ยันตร์” ในภาษาสันสกฤต อันหมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ป้องกันภัยอันตรายได้ เป็นคําที่สันนิษฐานขึ้นจากรูปศัพท์เดิม โดย แปลว่า “ส่วนปลายของปราสาทโล้น" ซึ่งเห็นได้ว่าชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมในลักษณะเดียวกันนี้ยังพบที่หน้าบันของวิหาร ด้วยเช่นกัน     “หำยนต์” ตามทัศนคติของล้านนา มีไว้เพื่อทําหน้าที่เป็นยันต์อันศักดิ์สิทธิ์ที่ป้องกัน และขับไล่ภยันตรายต่างๆ จากภายนอกมิให้ผ่านประตูเข้าไปในตัวเรือน หรือห้องนอน ป้องกันอันตรายให้แก่ผู้ที่หลับนอนภายในห้องนั้น ดังนั้นหำยนต์จึงมีหน้าที่เหมือนยันต์โดยมีพลังจากเพศชายผู้เป็นเจ้าของเรือนคอยปกป้องสมาชิกในครัวเรือนทุกคน  ทั้งนี้ขนาดความกว้างของหำยนต์วัดจากความยาวของเท้าผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัวนั้นๆ ซึ่งชาวล้านนาเชื่อว่าเท้าเป็นสิ่งที่ต่ำสุดจึงเป็นสิ่งที่ไม่เป็นมงคล แต่การใช้เท้าวัดประตูจะช่วย “ข่ม” ความไม่ดี สิ่งชั่วร้าย รวมถึงผู้คนที่มีจิตอกุศลไม่ให้เข้ามาในห้องนอนได้ หากล่วงล้ำเข้าไปในห้องนอนโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าของเรือน ถือว่าเป็นการกระทำ “ผิดผี” จำเป็นต้องทำการขอขมาลาโทษ ความยาวของหำยนต์หรือความกว้างของประตูเรือน ถูกกําหนดโดยการวัดความยาวเท้าของเจ้าของบ้าน เช่น ยาว เป็น 3 หรือ 4 เท่า เชื่อกันว่าหำยนต์สามารถให้คุณแก่ผู้เข้าใจปฏิบัติ หรือแสดงคารวะอย่างถูกต้อง และในทางกลับกันก็อาจให้โทษได้ด้วย ดังนั้นในการประดิษฐ์หำยนต์จึงมีขั้นตอนหรือพิธีกรรมเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านเรือน และผู้อยู่อาศัย หำยนต์จะทําขึ้นพร้อมกับการสร้างบ้านใหม่ เจ้าของบ้านจะกําหนดให้ความกว้างของประตูและความยาวของแผ่นไม้นั้นเท่ากัน โดยใช้ความยาวของเท้าเป็นมาตรวัด เช่น “บุคคลที่เป็นนายช้าง ให้ทําประตูกว้าง 5 ช่วงเท้า คนที่เป็นนายม้า พ่อค้า และไพร่น้อย ให้ทําประตู กว้าง 3 ช่วงเท้ากับอีก 3 ช่วงหัวแม่มือ” เมื่อหาแผ่นไม้ ที่จะทําหำยนต์ได้แล้ว ก็จะนําแผ่นไม้นั้นมาทําพิธี “ถอน” เสียก่อน โดยให้อาจารย์ผู้มีวิชาหรือพระเถระรดน้ำมนต์ลงบนไม้ ซึ่งบางท่านกล่าวว่าเมื่อ “ถอน” แล้วจะต้องนําแผ่นไม้ไปผูกกับเสาเอกของบ้านด้วย ลวดลายที่แกะสลักบนหำยนต์นั้น จะเป็นไปตามที่ช่างและเจ้าของบ้านจะร่วมกันกําหนด เมื่อสร้างบ้านนั้นเสร็จแล้วจึงจะนําหำยนต์ไปติดไว้เหนือประตู ห้องนอนดังกล่าว ซึ่งก่อนจะติดหำยนต์เข้าที่จะต้องทําพิธียกขันตั้งหลวงเสียก่อน ในพิธีนั้นจะต้องมีเครื่องคารวะอันประกอบไปด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน หมาก พลู ผ้าขาวผ้าแดง สุรา และอาหารคาวหวานตามอัตรา และให้ปู่อาจารย์เป็นผู้ประกอบพิธีอัญเชิญเทวดาอารักษ์ให้มาปกป้องบ้านเรือน และผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น หากมีการขายเรือนที่มีหำยนต์เหล่านี้ก่อนย้ายเข้าหรือรื้อถอน เจ้าของคนใหม่จะต้องตีหำยนต์แรงๆ (ภาษาล้านนาคําว่า บุบ แปลว่าทุบตี) เพื่อทําลายความขลัง การทุบตี “หำยน” เปรียบเสมือนการตีลูกอัณฑะวัวหรือควายในการทําหมันในสมัยก่อน ซึ่งเป็นการทําให้หมดสมรรถภาพ การหมดความศักดิ์สิทธิ์ของหำยนต์ก็เฉกเช่นกัน เช่นเดียวกับรูปของเรือนที่ว่าพม่าบังคับให้ทําคล้ายโลงศพ มีผู้กล่าวว่า “หำยน” เป็นอัณฑะของคนพม่าที่ติดไว้เหนือประตู เมื่อเจ้าของบ้านหรือผู้คนในบ้านเดินเข้าออก ต้องลอดใต้อัณฑะ ซึ่งเป็นการข่มทําลายจิตใจมิให้กระด้างกระเดื่องต่อพม่า  ไม้ที่ใช้แกะหำยนต์ส่วนใหญ่นิยมใช้ไม้สัก เพราะมีเนื้อแข็งปานกลาง ง่ายต่อการขึ้นรูป  การแกะสลักหำยนต์เริ่มต้นจากช่างแกะสลักจัดเตรียมขันตั้งไหว้ครู และบอกกล่าวแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงในระหว่างที่แกะสลักนั้นต้องท่องคาถา “อิติปิโส........” 108 จบ หรือท่องคาถา 5 พระองค์ “นะ โม พุท ธา ยะ” ตลอดระยะเวลาในการแกะหำยนต์ เพื่อเสริมสร้างสิริมงคล  เมื่อเสร็จแล้วก็ประพรมน้ำส้มป่อย เพื่อชะล้างสิ่งไม่ดีออกไป  ในอดีตลวดลายหำยนต์มี 4 ลาย ประกอบด้วย  ลายขดพญานาค ซึ่งมีตั้งแต่  3 เศียร 5 เศียร 7 เศียร 9 เศียร   ลายเครือหรือลายเถา ที่เป็นลวดลายใบไม้ พันธุ์ไม้ต่างๆ เช่น ดอกบัว ดอกบ่าขะหนัด ดอกพุด ฯลฯ  ลายเมฆ เป็นลวดลายที่เลียนแบบเมฆ ลายซุ้มแก้ว มีโครงลายเป็นรูปซุ้มโค้ง แล้วผสมผสานลวดลายต่างๆ เข้าไว้ในกรอบซุ้ม เช่น ใช้ลายเมฆและลายพญานาคผสมกัน เป็นต้น             หำยนต์ มีลักษณะโครงสร้างเป็นแผ่นไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ประกอบด้วยกลีบไม้จริงตีประกบเป็นโครงสร้างยึดไว้ ทำให้มีช่องว่างระหว่างไม้คั่นขนาดต่างกัน 2 ช่อง ชาวล้านนาเรียกส่วนบนที่มีขนาดเล็กว่า “ตัวผู้” ส่วน “ตัวเมีย” ขนาดใหญ่อยู่ด้านล่าง  หากเป็นหำยนต์แบบโบราณมีไม้ยื่นออกมาด้านข้างเพื่อสอดเข้าไปในช่องเหนือบานประตู  เนื่องด้วยการประกอบไม้ของเรือนล้านนาโบราณจะใช้ลิ่ม เดือย และสลัก แทนการใช้ตะปู  รูปทรงหำยนต์แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปทรงโค้งคล้ายโก่งคิ้วของวิหารล้านนา รูปทรงโค้งมีพื้นหลัง รูปแบบของหำยนต์จำแนกโดยศึกษาจากเทคนิควิธีการทำหำยนต์ มี 3 วิธีการ คือ  1. การแกะสลัก เริ่มจากการร่างโครงลวดลายโดยใช้สิ่วตอกลงไปบนไม้ เป็นการคัดลายให้พอทราบว่าส่วนใดเป็นลาย ส่วนใดเป็นพื้น  จากนั้นก็ใช้สิ่งขุดพื้นตามความต้องการแล้วแกะตัวลายหรือโกลนลายด้วยการใช้สิ่วแบบต่างๆ ตามความโค้งของลวดลาย  เทคนิคการแกะสลักแบบนี้พบในเรือนล้านนาแบบโบราณ หรือเรือนกาแล       2. การฉลุลาย เป็นหำยนต์ที่ไม่มีพื้นหลัง ด้วยการเจาะพื้นหลังให้โปร่ง เทคนิคนี้นิยมมากในช่วง ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เป็นต้นมา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเรือนไม้ฉลุในยุคอาณานิคม หรือเรือนขนมปังขิงของยุโรป ที่มาพร้อมกับรสนิยมตามแบบตะวันตกของพ่อค้าไม้ชาวไทใหญ่ และชาวอังกฤษที่มาอยู่ในล้านนา โดยลวดลายฉลุมักเป็นลายเครือเถาที่ได้รับการผสมผสานระหว่างลายล้านนานาและลายตะวันตก      3. การแกะสลักและฉลุลาย เป็นการผสมผสานทั้งสองเทคนิคเข้าด้วยกัน โดยฉลุไม้ให้เป็นโครงลวดลายก่อน แล้วจากนั้นจึงแกะสลักไม้ให้มีมิติมากยิ่งขึ้น ลวดลาย          ลวดลายหำยนต์ เกิดจากการแกะสลักไม้เป็นรูปร่างต่างๆ ตามจินตนาการของช่าง ที่ออกแบบผูกลายให้สัมพันธ์กัน และนิยมทำลวดลายสมมาตรเท่ากันทั้งซ้ายและขวา โดยมีตัวลายขนาดใหญ่เป็นจุดนำสายตาอยู่ตรงศูนย์กลางแผ่นไม้หำยนต์ จากการศึกษาลวดลายหำยนต์โบราณ สามารถจำแนกลายออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย ลายพันธุ์พฤกษา คือลายพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่ประกอบไปด้วยส่วนของก้าน  ใบ ดอก มักพบว่าทำเป็นรูป ต่างๆ เช่น ลายก้านขด ลายเถาองุ่น ลายดอกพุด ลายบ่าขะหนัด(สับปะรด) ลายตัวภาพ มักทำเป็นรูปเทพและสัตว์ เช่น ลายราหู  สัตว์ป่าหิมพานต์ สัตว์ปีเปิ้ง(สัตว์ประจำปีเกิด) ลายธรรมชาติ เป็นลวดลายที่ช่างได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ นำมาประยุกต์สร้างสรรค์เป็นลวดลายที่มีลักษณะเฉพาะ ส่วนใหญ่ในแถบจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนทำลวดลายเมฆไหล ซึ่งเป็นลายที่ได้รับอิทธิพลมาจากลายเมฆจีนที่เลียนแบบก้อนเมฆ ส่วนในกลุ่มจังหวัดลำปางและพะเยานิยมทำลายไส้หมู ซึ่งเป็นพัฒนาการจากลายเมฆไหลคลี่คลายรูปทรงเมฆเป็นเกลียวซ้อนต่อกัน ลายมงคล เป็นลวดลายมงคลที่เชื่อว่าจะสามารถเสริมสิริมงคลในเรือนได้ ส่วนใหญ่เป็น ลวดลายมงคล 108 และลายมงคลในพุทธศาสนา เช่น ลายประแจจีน ลายหม้อบูรณฆฏะ ลายสวัสดิกะ ลายฝรั่ง เป็นลวดลายที่ได้รับอิทธิพลมาจากลายตะวันตก ส่วนใหญ่เป็นลวดลายใบไม้ ลายเถา หรือลายหลุยส์ ลายวินเทจ ลายวิคตอเรีย ที่สมัยปัจจุบันกลับมานิยมใช้กัน ข้อมูลโดย คุณฐาปนีย์ เครือระยา   โครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.(2529). หำยนต์. จดหมายข่าวล้านนาคดีศึกษา, ปีที่ 1 (ฉบับที่ 2), ประจำเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2529, หน้า 48.  เฉลียว ปิยะชน. (2532). เรือนกาแล (พิมพ์ครั้งที่ 2). เชียงใหม่ : สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 151  เรือนแบบลานนาไทย.(2521). อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพนายบุญปั๋น พงษ์ประดิษฐ์ วันที่ 14 พฤษภาคม 2521. เชียงใหม่ : เจริญการค้า เชียงใหม่. หน้า 42. มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. (2542). สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 14. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.หน้า 7545. สัมภาษณ์พ่อครูวีระชัย มณีวรรณ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 15 พฤษภาคม 2558. ฐาปนีย์ เครือระยา. (2558). ลวดลายหำยนต์ล้านนาล้านนา. เชียงใหม่ : สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 5.
เผยแพร่เมื่อ 20 เมษายน 2564 • การดู 21,743 ครั้ง
หลังฅา
หลังฅา
หลังฅา หลังฅา เป็นส่วนประกอบที่มาหุ้มโครงสร้างส่วนบนของเรือน ทำหน้าที่กันลมฝนและแดด โดยปกติหลังคาเรือนพักอาศัยจะเป็นทรงจั่ว โดยเฉพาะสันหลังคาของเรือนกาแล จะมีความลาดเอียงเป็นแนวตรง ไม่อ่อนโค้ง หลังคาเรือนกาแลไม่มีหลังคากันสาดที่เสริมล่างต่อหลังคาอีกชั้นหนึ่ง จึงนิยมทำหลังคาคลุมต่ำลงมามากกว่าเรือนฝาปะกน ทั้งหมดนี้จึงทำให้ลักษณะของหลังคาครอบคลุมต่ำและชิดตัวเรือน ทั้งนี้หลังคาก็ยังสูงกว่าชานประมาณ 1.75 เซนติเมตร ซึ่งสูงพอที่คนจะเดินลอดได้อย่างสบาย บริเวณส่วนล่างของแหนบจะมีแผงหลังคาเล็กๆ มีความยาวเท่ากับความยาวของฐานแหนบ เป็นส่วนปิดบังลมแดและฝนให้ส่วนบนของฝาด้านสะกัด ส่วนนี้เรียกตามภาษาภาคกลางว่าไขราปีกนา ส่วนของหลังคาที่ยื่นเลยแหนบออกมาเรียกว่าไขราหน้าจั่ว และส่วนล่างของหลังคาที่ระดับแปหัวเสามาคลุมตัวเรือนเรียกว่าไขรากันสาด การเชื่อมต่อของไขราปีกนาและไขรากันสาดของเรือนกาแล มี 3 ลักษณะ คือ 1.ไขราปีกนกแยกเป็นอิสระไม่ต่อชนกับไขรากันสาด โดยใช้โครงสร้างที่เรียกว่ากลอนก้อย และยางดังกล่าวแล้วมารับน้ำหนัก 2.ไขราปีกนาและไขรากันสาดมีชายคาในระดับเดียวกันและเชื่อมต่อกัน 3.ส่วนชายคาของไขราปีกนกยื่นยาวมาคลุมตัวเรือนด้านสกัดมาก ทำให้ส่วนของไขรากันสาดต้องยื่นยาวออกมาด้วย ลักษณะดังกล่าว หากเป็นเรือนแฝดก็จะยาวติดต่อกันทั้ง 2 หลัง เป็นแนวเดียวกันดูสวยงาม โครงสร้างของหลังคาแบบที่ 2 และ 3 นี้ ใช้ไม้จักเข้รับน้ำหนักบริเวณรอยเชื่อมต่อของไขราปีกนกและไขรากันสาด   ภาพหลองข้าวป่าซาง (นันทขว้าง) ข้อมูลจากสารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ เล่มที่ 14
เผยแพร่เมื่อ 21 มกราคม 2564 • การดู 3,948 ครั้ง
ดินขอ
ดินขอ
ดินขอ คือ กระเบื้องมุงหลังคาเรือนของชาวล้านนา เป็นเครื่องปั้นดินเผา น้ำหนักเบา มีขนาดเล็ก บางเรียบ ปลายด้านหนึ่งหักงอคล้ายตะขอ ใช้สำหรับเกาะไม้ก้านฝ้าที่ยึดติดกับโครงสร้างหลังคา สำหรับแหล่งดินขอที่ผลิตในจังหวัดเชียงใหม่ เหลือเพียงแห่งเดียวคือ บ้านของพ่อครูสมาน จันทครลักษณ์ ในตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง ซึ่งในอดีตแถบตำบลแม่เหียะเป็นแหล่งผลิตดินขอและดินกี่ที่สำคัญ อุปกรณ์และวัตถุดิบที่ใช้ ดินเหนียว หรือ เรียกว่าดินดาก เป็นดินที่ขุดจากท้องนา โดยต้องขุดหน้าดินในชั้นดินดำออกประมาณ 1 – 3 เมตร ถึงจะเจอชั้นดินดากที่สามารถนำไปปั้นได้ จากนั้นขุดดินในชั้นนี้ออกมา   แม่พิมพ์ที่ใช้ขึ้นรูปดินขอ ขนาด กว้าง 4.5 x ยาว 8.8 นิ้ว ไม้สามเหลี่ยม ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ลวดที่ใช้ตัด ลักษณะเป็นครึ่งวงกลม เถ้าไม้หรือเถ้าแกลบ ไม้พื้นหรือไม้เนื้อแข็งทุกชนิด ที่หาได้ในพื้นที่ กรรมวิธีการปั้น 1. นําดินเหนียวมาหมักด้วยน้ำพอประมาณ ใช้เวลา 20 ชั่วโมง 2. นํามาเข้าเครื่องนวดให้เหนียวจนได้ที่ แต่สมัยก่อนต้องใช้เท้าเหยียบบนหนังวัว เพื่อให้ดินเหนียว และมันวาว 3. นํามาปั้นกับแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้ โดยโรยขี้เถ้าในแม่พิมพ์กันไม่ให้ดินเหนียวติดแม่พิมพ์ แล้วเอาลวดที่ใช้ตัดดินให้เหลือในแม่พิมพ์ จากนั้นใช้ไม้สามเหลี่ยมชุบน้ำแล้วให้        เรียบ นําออกจากแม่พิมพ์มาวางไว้ในที่ๆ ใช้เตรียมไว้ 4. นําไปตากแดดประมาณ 2 ชั่วโมงหรือให้แข็งตัวพอประมาณ จึงจะเก็บได้ 5. แต่งผิวดินให้เรียบแล้วเอามาตั้งเรียงไว้ 6. นําเข้าเตาเพื่อเผา โดยใช้เตาขนาด 3 x 3.5 สูง 4 เมตร ด้านล่างมีช่องเติมเชื้อเพลิง หรือพื้นเป็นรูปวงกลม 2 รู โดยทางที่นําดินเข้า เป็นรูปสี่เหลี่ยม 1 ช่อง ที่วางดินมีช่อง      กว้างประมาณ 10 เซนติเมตร มี 8 - 10 แถว 7. นําดินวางตะแคง แล้วปิดที่ช่องนําดินเข้าให้สนิท โดยต้องใช้ความร้อนสูงและสม่ำเสมอ เริ่มจากเผาพื้นไล่ความชื้นใช้ไฟอ่อนประมาณ 10-11 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง                จากนั้นจึงเร่งไฟให้เต็มที่ 30 ชั่วโมง หรือให้ดินชั้นบนของเตาแดงเหมือนถ่านจนทั่วเตาจึงหยุดไฟได้ แล้วปิดช่องที่เติมฟืนให้สนิท อบประมาณอีก 5 วัน ถึงเอาออก                จากเตาได้  ใช้เวลาในกระบวนการเผาทั้งหมดประมาณ 12-14 วัน
เผยแพร่เมื่อ 13 มกราคม 2564 • การดู 5,858 ครั้ง
เสวียน เครื่องสานขนาดใหญ่
เสวียน เครื่องสานขนาดใหญ่
เสวียน เป็นเครื่องสานขนาดใหญ่ โดยปกติมักทำเป็นทรงกลมไม่มีก้นและไม่มีฝา สานด้วยซีกไม้ไผ่ ขนาดกว้างประมาณ 2 - 3 เซนติเมตร เป็นลายข้าม ตัวเสวียนมักจะกว้างประมาณ 1- 2 เมตร ตามประโยชน์ใช้สอย ในกรณีที่ใช้เสวียนเป็นเครื่องป้องกันดินขอบบ่อน้ำถล่มนั้น ชาวบ้านมักจะเริ่มสานเสวียนจากก้นบ่อจนสูงพ้นผิวดิน                 เท่าที่มีการใช้งานทั่วไปนั้น ผู้ที่ยังไม่มีฐานะดีพอที่จะสร้างยุ้งข้าวได้ มักจะใช้เสวียนเป็นที่เก็บข้าวเปลือกไว้บริโภคในครัวเรือนของตน เจ้าของเสวียนจะกะขนาดของเสวียนให้พอเหมาะกับปริมาณข้าวเปลือกที่ตนทำมาหาได้ ซึ่งมีปริมาณไม่มากนัก ถ้าจะทำยุ้งข้าวก็ไม่สมกับจำนวนข้าวที่จะเก็บ หรือแม้แต่ผู้ที่มีที่นามากแต่ยังไม่มียุ้งสำหรับเก็บข้าว ก็จะใช้เสวียนขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กแต่จำนวนหลายเสวียนเป็นที่เก็บข้าวเปลือก ก่อนจะมี หลองเข้า หรือยุ้งข้าวเป็นที่เก็บข้าวเปลือกอย่างถาวร การใช้เสวียนเป็นการใช้ชั่วคราว เมื่อใดที่สามารถปลูกยุ้งข้าวได้ก็เลิกใช้เสวียนเมื่อนั้น                 มีนิทานเรื่องการสานเสวียน ที่เล่ากันเป็นเรื่องตลกว่ามีลูกเขยมาอยู่กับเมียตอนแรกๆ ลูกเขยคนนี้ทำอะไรไม่ค่อยเป็น วันหนึ่งพ่อเมียใช้ให้ลูกเขยสานเสวียน ลูกเขยจะบอกว่าสานไม่เป็นก็อาย ความจริงก็เคยเห็นคนอื่นสานมาบ้างแต่ไม่ได้สนใจ เมื่อเตรียมอุปกรณ์ได้แล้ว จึงลงมือสานตั้งแต่กินข้าวงาย (อาหารมื้อเช้า) แล้วจนใกล้จะกินข้าวตอน ( ข้าวกลางวัน ) จึงสานเสร็จพอดี ฝ่ายเมียก็เตรียมสำรับข้าวอยู่บนบ้านและเรียกสามีให้ขึ้นไปกินข้าว แต่ลูกเขยใหม่ไม่รู้จะออกจากเสวียนไปได้อย่างไร เพราะไม่เคยสังเกตว่าคนอื่นสานแล้วเขาออกทางไหน ทั้งนี้เสวียนเมื่อวานแล้วก็จะมีความสูงท่วมหัว จะปีนขึ้นทางปากเสวียนก็ไม่ได้เพราะไม่มีอะไรพออาศัยปีนขึ้นได้ เมียก็เรียกกินข้าวอยู่นั่นแหละ คิดหาทางออกอย่างไรก็คิดไม่ออก ทำเอาลูกเขยเหงื่อแตก จะตะโกนถามเมียก็จะเสียเหลี่ยม พอดีมองออกมาข้างนอกเห็นน้องเมียกำลังเล่นฝุ่นอยู่ จึงทำเป็นแกล้งถามน้องเมียว่า “ไอ่น้อง คิงว่าพี่ชายจะออกจากเสวียนทางใดเอ้า” น้องเมียก็ตอบขึ้นทันทีว่า “พี่ชายก็พึดออกทางลุ่มน่าก่า ลูกเขยจึงนึกได้และ “พึด” คือยกส่วนล่างของเสวียนข้างหนึ่งขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ลอดออกมาแล้วพูดกับน้องเมียว่า “เอ่อ มึงเก่ง”   
เผยแพร่เมื่อ 18 สิงหาคม 2563 • การดู 5,848 ครั้ง
เรือนพื้นถิ่น
เรือนพื้นถิ่น
“เรือนพื้นถิ่น” มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” (Vernacular Architecture)  หมายถึงรูปแบบของอาคารที่ชาวบ้านสร้างขึ้นในแต่ละท้องถิ่น  และเน้นเฉพาะอาคารที่อยู่อาศัย  หรือตัวเรือน  โดยรูปแบบของเรือนพื้นถิ่นในแต่ละแห่งจะมีรูปร่าง  วัสดุ  ขนาด  และวิธีการก่อสร้างคล้ายคลึงกัน  เพราะไม่ใช่เป็นงานออกแบบเฉพาะของสถาปนิก  แต่เป็นการออกแบบจากการใช้ชีวิตที่มีลักษณะร่วมกันของแต่ละสังคมที่ใช้เวลาในการคิดค้นและสร้างสรรค์  ให้เป็นไปตามธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมที่ต่อเนื่องกันของประชาชนทั้งหมดทุกคนในสังคม หรืออาจหมายถึงงานสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้เกิดจากการออกแบบโดยตรง แต่เกิดจากการแก้ไขปัญหาและประสบการณ์เชิงประจักษ์  เพื่อให้การกิน   การอยู่สัมพันธ์กับภูมิศาสตร์ที่ตั้งถิ่นฐาน  ดังที่นักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาให้ความสำคัญกับเรือนพื้นถิ่น  ที่สะท้อนสภาพวัฒนธรรมของแต่ละสังคม  จากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ขณะที่อาศัยอยู่ในเรือนสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นจึงแสดงออกถึงประสบการณ์และความชำนาญของกลุ่มชนในการสร้างสถาปัตยกรรมขึ้นจนเป็นมรดกทางสังคมที่ได้รับการถ่ายทอดต่อๆ กันมา หรืออาจกล่าวได้ว่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นคือสถาปัตยกรรมของสามัญชน หรือชาวบ้าน และหมายรวมถึงสถาปัตยกรรมทุกประเภท ทั้งอาคารพักอาศัย ทั้งชั่วคราวและถาวร อาคารสำหรับอาชีพ เช่น ยุ้งข้าว โรงเก็บของ โรงสี โรงปั้นหม้อ ฯลฯ ทั้งอาคารสาธารณะ วัดวาอารามในชุมชน ศาลากลางบ้าน ศาลาท่าน้ำ ศาลาริมทาง ฯลฯ  ในสถาปัตยกรรมเรือนพื้นถิ่นจะเห็นว่าเรือนแต่ละแบบแม้จะมีลักษณะ ร่วมบางอย่างอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน แต่ในส่วนประกอบปลีกย่อยก็ยังมีความเด่นชัดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ตามที่แต่ละกลุ่มเชื้อชาติหรือชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ  ซึ่งสถาปัตยกรรมที่เกิดจากความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ไม่ได้สอนในด้านการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ แต่เป็นการตกตะกอนทางความคิดที่สืบทอดมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนนั้นๆ  ตาม สัญชาตญาณการดำรงชีวิตแบบช้าๆ  ทำให้เกิดวิวัฒนาการทางสถาปัตยกรรมช้าตามไปด้วย  ดังนั้นรูปแบบของเรือนพื้นถิ่นจึงยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตัวเองได้มากกว่าสถาปัตยกรรมของสังคมชั้นสูงโดยทั่วไป 1.การสร้างสรรค์ทางสถาปัตยกรรมกับสัญชาตญาณ  ที่เป็นการออกแบบงานสถาปัตยกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิต ในการกิน  นอน  ให้ความอบอุ่น  ป้องกันฝน  2.การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมโดยได้รับอิทธิพลของสังคมและสภาพแวดล้อม เป็นลักษณะ งานสถาปัตยกรรมที่มีปัจจัยในด้านต่างๆ  สำหรับคนในท้องถิ่นส่วนใหญ่มักมองว่าเรือนพื้นถิ่นเป็นงานฝีมือที่ไม่ค่อยละเอียด พบเห็นได้ทั่วไป เพราะเป็นสิ่งที่เห็นทุกวันจนคุ้นเคย  จนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาและมองข้ามความสำคัญไป แต่หากศึกษาอย่างละเอียดแล้ว จะพบถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างลึกซึ้ง  ดังนั้นการศึกษาเรือนพื้นถิ่น  ควรวิเคราะห์ตีความจากการสังเกต  ให้เห็นคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมจากการศึกษารูปทรงของอาคาร  ความสัมพันธ์ในการจัดวางเนื้อที่ใช้งานที่ตอบสนอง  หรือสอดคล้องกับกิจกรรมในการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม  และความงามของการวางพื้นที่ได้อย่างประสานกลมกลืน  ตลอดจนการใช้วัสดุก่อสร้างที่แสดงถึงสัจจะของธรรมชาติของวัสดุที่นำมาจากท้องถิ่นนั้นๆ   เขียนโดย : ฐาปนีย์ เครือระยา  อนุวิทย์  เจริญศุภกุล. “เรือนลานนาไทย” วารสารบ้าน  วารสารรายเดือนของการเคหะแห่งชาติ  ฉบับที่  22  ปีที่  2  เดือนกรกฎาคม  พ.ศ. 2518.                                                       อรศิริ  ปาณินท์. มนุษย์กับการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรังสิต, 2521 หน้า 13. วิวัฒน์  เตมียพันธ์. เรือนพักอาศัย : รูปแบบสำคัญของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น. เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง  เอกลักษณ์เรือนพื้นถิ่นภาคเหนือ  โดย  คณะทำงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือ  ร่วมกับหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น 17 จังหวัดภาคเหนือ  ณ  สำนักหอสมุด  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,  8-9  สิงหาคม  2539.  หน้า  6. ยศพร ปุณวัฒนา, รศ. วีระ อินพันทัง. แนวคิดและการจัดการภูมิทัศน์สรรค์สร้างบริเวณที่อยู่อาศัยท้องถิ่นไทย กรณีศึกษาริมแม่น้ำเพชรบุรี. วารสารหน้าจั่ว ฉบับที่ 27. คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร. กรุงเทพฯ : บริษัท อี.ที. พับลิชชิ่ง จำกัด. 2556. หน้า 113.
เผยแพร่เมื่อ 2 มิถุนายน 2563 • การดู 8,797 ครั้ง
วิธีการรื้อย้ายเรือนโบราณ
วิธีการรื้อย้ายเรือนโบราณ
วิธีการรื้อย้ายเรือนโบราณ การรื้อย้ายเรือนที่มีอายุเก่าแก่นั้น เป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อนและต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก จึงต้องใช้ “สล่า” คือช่างผู้มีความรู้ความชำนาญในการควบคุมดูแลกำกับทุกขั้นตอน เพื่อไม่ให้มีความผิดพลาดอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวเรือน ก่อนที่จะรื้อย้ายต้องเตรียมการบันทึกรายละเอียดของโครงสร้าง โดยเริ่มจากวัดส่วนประกอบต่างๆ ของตัวเรือนแล้วจึงเขียนแปลนขึ้นมา เพื่อให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องหลังจากขั้นตอนการประกอบใหม่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งจะช่วยให้ตัวเรือนอยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด ทั้งนี้สล่าจะต้องสำรวจส่วนที่ชำรุดเสียหายและส่วนใดที่มีรายละเอียดมากต้องระวังเป็นพิเศษ เช่น ตรวจดูว่ามี “ยันต์ฟ้าฟีก” หรือ “ยันต์หัวเสา” ของห้องนอนใหญ่หรือไม่ ซึ่งเรือนโบราณส่วนใหญ่จะพบว่ามียันต์ชนิดนี้อยู่ เนื่องจากคนล้านนาเชื่อว่าเป็นยันต์ที่ช่วยปกป้องคุ้มภัยทั้งภัยจากธรรมชาติและภัยจากภูติผีปีศาจทั้งหลาย หากพบยันต์บนหัวเสาแล้ว จะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในการรื้อยันต์ออก เพื่อไม่ให้ยันต์ชำรุดเสียหายจาการรื้อย้ายได้ ก่อนที่จะเริ่มรื้อถอนเรือน สล่าจะต้องประกอบพิธีขอขมาและบอกกล่าวกับ “ผีหอผีเฮือน” (ผีหอผีเรือน) จากนั้นก็ฉีดพรมน้ำในส่วนประกอบของเรือนที่เป็นไม้ให้ชุ่มด้วยความระมัดระวัง แล้วทิ้งไว้ประมาณ ๒๐ – ๓๐ นาที เพื่อให้เนื้อไม้เกิดการยืดหยุ่นและไม่เปราะแตกขณะที่ถอดชิ้นส่วนต่างๆ ออกจากกัน เมื่อเตรียมการทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจึงเริ่มรื้อเรือนตามขั้นตอนและวิธีการดังนี้ ๑.อันดับแรกรื้อหลังคาออกก่อน หากเป็นกระเบื้องดินขอก็ต้องถอดออกทีละแผ่นอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้แตกหักเสียหาย หากหลีกเลี่ยงความเสียหายไม่ได้อาจนำกระเบื้องใหม่มาทดแทนได้บ้าง ๒.เมื่อรื้อกระเบื้องออกทั้งหมดแล้วจึงเริ่มรื้อโครงหลังคาโดยวิธีการยกออกทั้งแผง เพราะหลังคาเรือน ๓.โบราณมักทำเป็นเดือยสวมทับกับจั่ว ในการยกจั่วออกอาจใช้รถเครนหรือรถยกเข้าช่วย ๔.ถอดฝาเรือนโดยการยกออกทั้งแผง จากนั้นจึงแกะไม้คร่าวและไม้เชน(เจน) ของฝาเรือนทั้ง ๔ ด้านออก ๕.แกะไม้พื้นเรือนหรือฝากระดาน โดยค่อยๆ งัดออกจากเดือยไม้ทีละชิ้นอย่างระมัดระวัง ๖.ถอดขื่อและแป โดยต้องทำรหัสตัวเลขเป็นเครื่องหมายของไม้แต่ละชิ้นก่อนถอดออก เพื่อให้ง่ายต่อการนำมาประกอบใหม่ ๗.แกะไม้ต๋งและแวง (รอด) ออก โดยต้องทำรหัสไว้ด้วยเช่นกัน ๘.ขุดเสาเรือนออก โดยขุดลึกลงไปพอประมาณแล้วรดน้ำลงในหลุม เพื่อให้ดินที่แข็งอยู่นั้นอ่อนนิ่มเป็นโคลน สะดวกต่อการถอนเสาออก จากนั้นใช้รถเครนยกถอนเสาออกจากหลุมจนครบ ซึ่งการถอนเสาเรือนก็ต้องทำรหัสของเสาแต่ละต้นเช่นเดียวกันกับส่วนประกอบอื่นๆ เพื่อให้นำไปประกอบเรือนใหม่ตามตำแหน่งของเสาเอก เสานางและเสาบริวารได้อย่างถูกต้อง (ข้อมูล: หนังสือเรือนล้านนากับวิถีชีวิต ผู้แต่ง ฐาปนีย์ เครือระยา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช. ภาพ: การรื้อย้ายเรือนทรงปั้นหยาอนุสารสุนทร)
เผยแพร่เมื่อ 23 มีนาคม 2563 • การดู 2,792 ครั้ง
เรือนทรงปั้นหยา (เฮือนอนุสารสุนทร)
เรือนทรงปั้นหยา (เฮือนอนุสารสุนทร)
เรือนทรงปั้นหยา(เรือนอนุสารสุนทร) เรือนทรงปั้นหยา (อนุสารสุนทร) เดิมตั้งอยู่บริเวณตลาดอนุสารสุนทร ถนนช้างคลาน ในความครอบครองของบริษัทสุเทพ จำกัด เป็นเรือนที่หลวงอนุสารสุนทรและนางคำเที่ยง ชุติมา สร้างให้กับบุตรชายและครอบครัว คือ นายแพทย์ยงค์ ชุติมา เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๗ โดยเรือนดังกล่าวชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ชั้นล่างเปิดเป็นคลินิค และร้านขายยา ๑.เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร) เมื่อตั้งอยู่บริเวณตลาดอนุสารสุนทร ถนนช้างคลาน ในความครอบครองของบริษัทสุเทพ จำกัด ๒.มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ได้ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์และนำมาสร้างขึ้นใหม่ ณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗ โดยประธานมูลนิธิหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้ร่วมพิธีลงเสาเอกตามพิธีแบบล้านนา ๓.ปกเสาเอก โดยสล่า ๔.สล่า ได้ดำเนินการก่อสร้างเรือนทรงปั้นหยา (อนุสารสุนทร) ขึ้นใหม่ ในพื้นที่พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗
เผยแพร่เมื่อ 23 มีนาคม 2563 • การดู 3,287 ครั้ง
พัฒนาการและรูปแบบเรือนล้านนา
พัฒนาการและรูปแบบเรือนล้านนา
เรือนล้านนารูปแบบต่างๆ สร้างขึ้นตามลักษณะการใช้พื้นที่ภายในเรือนและฐานะของเจ้าของเรือน  โดยเรือนแต่ละแบบต่างก็มีความสอดคล้องกันของวิถีชีวิตประจำวันกับการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่แยกออกจากกันเป็นสัดส่วน  ซึ่งเรือนในยุคแรกๆ ของล้านนามักสร้างมาจากไม้ไผ่หรือเป็นเรือนเครื่องผูก  จากนั้นก็มีพัฒนาการมาเป็นเรือนที่สร้างจากไม้จริง  แล้วนำรูปแบบของเรือนตะวันตกมาผสมผสานในยุคหลัง             ในอดีตการสร้างเรือนขึ้นอยู่กับฐานะของผู้สร้าง  หากเป็นคหบดีที่มีฐานะดีจะสร้างเรือนหลังใหญ่ด้วยไม้จริงทั้งหลัง  ส่วนชาวบ้านทั่วไปนิยมสร้างเรือนด้วยไม้ไผ่ผสมกับไม้จริง  โดยมีโครงสร้างเรือน  เช่น  เสา  ขื่อ  แวง  เป็นไม้จริง  ส่วนฝาและพื้นเรือนทำมาจากไม้ไผ่สับฟาก  หากเรียงลำดับตามพัฒนาการของเรือนล้านนา  สามารถแบ่งรูปแบบเรือนดังนี้ เรือนเครื่องผูก  เป็นเรือนที่สร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่  ตัวเรือนขนาดเล็ก  ดังจะเห็นรูปแบบของเรือนเครื่องผูกนี้ได้ตามภาพจิตรกรรมฝาผนังของล้านนา  มีรูปแบบเป็นเรือนจั่วเดียวยกพื้นสูง  ในอดีตเรือนเครื่องผูกเป็นเรือนของชาวบ้านทั่วไป  ที่สร้างขึ้นกันเองโดยการตัดไม้ไผ่มาประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้างของเรือน  แล้วใช้ตอกหรือเส้นหวายยึดให้ติดกัน  อาจมีการใช้เสาเรือนด้วยไม้จริงบ้าง  แต่โดยรวมแล้วองค์ประกอบของเรือนส่วนใหญ่จะทำมาจากไม้ไผ่  เช่น  โครงสร้างหลังคา  ฝาและพื้นเรือนที่ทำมาจากไม่สับฟาก  นอกจากนั้นเรือนเครื่องผูกยังเหมาะสำหรับคู่แต่งงานที่กำลังเริ่มสร้างครอบครัวใหม่  มักสร้างเป็นเรือนเครื่องผูกแบบชั่วคราวก่อนที่จะเก็บเงินและไม้จริงได้พอเพียงสำหรับขยายเรือนต่อไป   เรือนไม้จริง  เป็นเรือนที่สร้างขึ้นจากไม้เนื้อแข็งทั้งหมด  ในล้านนานิยมใช้ไม้สักเพราะหาได้ง่าย  มีอายุการใช้งานนาน  อีกทั้งเนื้อไม้ไม่แข็งมากนัก  จึงสามารถเจาะหรือแต่งรูปไม้ได้ง่าย  ขนาดของเรือนขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าของเรือน  ซึ่งมักทำเป็นเรือนที่มีทั้งจั่วเดียวและสองจั่ว  โดยเรือนที่มีจั่วเดียวจะมีโครงสร้างเช่นเดียวกับเรือนเครื่องผูก  เพียงแต่สร้างขึ้นมาจากไม้จริง  ตั้งแต่โครงสร้างหลังคาไปจนถึงฝาและพื้นเรือนที่ทำด้วยไม้กระดาน  ด้านหน้าเรือนนิยมทำเป็นชานโล่ง  แล้วเชื่อมต่อตัวชานกับเรือนด้วยเติ๋น  ส่วนเรือนที่สร้างแบบสองจั่วหรือเรือนจั่วแฝด  ทางล้านนาเรียกว่า  “เรือนสองหลังฮ่วมพื้น”  มีการแบ่งพื้นที่การใช้สอยเป็นระเบียบมากขึ้น  โดยจั่วที่มีขนาดใหญ่อยู่ทางด้านตะวันออกเป็นเรือนนอน  อีกจั่วที่ขนาดเล็กลงมาอยู่ทางด้านตะวันตก  เป็นส่วนของเรือนครัวหรือครัวไฟ  ใช้เป็นที่ประกอบอาหารและเก็บเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ  ระหว่างชายหลังคาของเรือนทั้งสองที่มาจรดกันจะสร้าง  “ฮ่อมริน” หรือรางรินสำหรับระบายน้ำฝน  ส่วนชานก็จะสร้างทั้งด้านหน้าเรือนและหลังเรือน   ทั้งนี้หากสมาชิกในครอบครัวมีจำนวนมากก็จะขยายห้องให้กว้างขึ้น  โดยใช้พื้นที่ใต้ชายคาของจั่วแฝดทั้งสองเป็นห้องโถงใหญ่  เพื่อเพิ่มบริเวณใช้สอยสำหรับนอนและอยู่อาศัยของสมาชิกทั้งหมด  แล้วสร้างเรือนครัวแยกออกมาจากตัวเรือนนอน  โดยสร้างระเบียงหรือชานเชื่อมต่อเรือนทั้งหมดเข้าด้วยกัน  ส่วน  “เรือนกาแล”  ที่เจ้าพญาและคหบดีนิยมสร้างนั้น  มีรูปแบบเป็นเรือนจั่ว แฝดขนาดใหญ่เช่นเดียวกันกับเรือนสองหลังฮ่วมพื้น  เพียงแต่เพิ่ม  “กาแล”  ติดไว้บน ยอดจั่วหลังคา  มีลักษณะเป็นแผ่นไม้รูปกากบาทแกะสลักด้วยลวดลายที่สวยงาม  เชื่อว่า รูปแบบของเรือนกาแลนี้มีพัฒนาการมาจากเรือนของกลุ่มชาวลัวะที่ใช้ไม้ไผ่วางไขว้กัน เหนือยอดจั่วเรือน             ในช่วง  100-80  ปีที่ผ่านมาชาวบ้านทั่วไปนิยมสร้างเรือนด้วยไม้จริงมากขึ้น  จึง เกิดรูปแบบเรือนที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น  เรียกว่า  “เรือนพื้นถิ่น”  เป็นเรือนที่มีการผสมผสานกันของรูปแบบเรือนโบราณล้านนากับเรือนของกลุ่มชาติพันธุ์ ต่างๆ ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในดินแดนล้านนา  เช่น  ไทลื้อ  ไทเขิน  ไทยอง  จึงทำให้ เรือนในยุคนี้มีความหลากหลายทั้งรูปแบบผังเรือนและการตกแต่ง  ทั้งยังเกิดพัฒนาการ ของการจัดสรรพื้นที่ใช้สอยภายในตัวเรือนให้เป็นสัดส่วนมากขึ้น              ลักษณะของเรือนกาแล  ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของล้านนา  เนื่องจากเป็น เรือนที่นิยมสร้างกันมากในกลุ่มคนยวนล้านนา  โดยมีพื้นที่ใช้สอยสัมพันธ์กับวิถี ชีวิตประจำวันและคติความเชื่อ  ซึ่งแบ่งออกเป็นพื้นที่ต่างๆ  ดังนี้ เรือนนอน  อยู่ด้านตะวันออก  เป็นห้องนอนขนาดใหญ่ห้องเดียวยาวตลอดตัวเรือน  แต่จะแบ่งออกเป็นห้องเล็กๆ ให้กับลูก โดยใช้ผ้ากั้งหรือผ้าม่านขึงไว้ตามช่วงเสา  การนอนต้องหันศีรษะไปทางทิศตะวันออก  บริเวณฝาผนังด้านปลายเท้าเป็นที่วางหีบหรือซ้าสำหรับใส่เสื้อผ้าหรือของใช้ส่วนตัว  และมี “แป้นต้อง”  ที่ทำจากไม้กระดานวางเป็นแนวยาวตลอดตัวเรือน  เพื่อเป็นทางเดินออกไปด้านนอกห้องนอนโดยเกิดเสียงดังรบกวนผู้อื่น  บริเวณหัวเสาเอกหรือเสาพญามี  “หิ้งผีเรือน”เป็นชั้นไม้  ใช้วางของสักการะ เรือนไฟหรือเรือนครัว  ใช้เป็นพื้นที่ประกอบอาหารและเก็บของใช้ต่างๆ  ในอดีตมีเตาไฟเป็นก้อนหินสามเส้าวางบนกระบะสี่เหลี่ยม  ต่อมาจึงใช้เตาอั้งโล่แทน  เหนือเตาไฟมีชั้นวางของทำมาจากไม้ไผ่สานโปร่งๆ  ใช้วางเครื่องใช้ประเภทงานจักสานและเก็บเครื่องปรุง  จำพวกหอม  กระเทียม  ฯลฯ  จะช่วยป้องกันมอด  แมลงต่างๆ ได้  ฝาผนังของเรือนครัวจะทำแบบห่างๆ หรือทำเป็นไม้ระแนงเพื่อช่วยระบายอากาศจากควันไฟ เติ๋น   เชื่อมต่อกับชานด้านหน้าของตัวเรือน  โดยยกพื้นสูงขึ้นจากระดับพื้นชานให้พอนั่งพักเท้าได้  เป็นพื้นที่กึ่งอเนกประสงค์มีผนังปิดเพียงด้านที่ติดกับห้องนอน  ใช้สำหรับอยู่อาศัยในช่วงกลางวัน  เช่น  ทำงานจักสาน  นั่งเล่น  รวมถึงใช้เป็นที่รับแขก  บริเวณฝาเรือนด้านตะวันออกมีหิ้งพระสำหรับสักการะบูชา ชาน  เป็นพื้นที่เปิดโล่งอยู่ทางด้านหน้าเรือนเชื่อมกับบันไดทางขึ้น  บริเวณขอบชานด้านที่ติดกับเติ๋นมี  “ฮ้านน้ำ”  สร้างเป็นชั้นไว้เป็นที่วางหม้อน้ำดื่ม  หากเป็นชานด้านหลังเรือนจะเชื่อมกับเรือนครัว  ใช้เป็นที่ซักล้างและวางภาชนะต่างๆ ใต้ถุนเรือน  ชาวล้านนาจะไม่นิยมอยู่อาศัยใต้ถุนเรือน  เพราะบริเวณนี้เป็นที่เก็บเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ  และเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์  ส่วนห้องน้ำก็จะสร้างแยกออกมาจากตัวเรือน  มักอยู่ด้านหลังเรือนใกล้กับทางขึ้นบันไดหลัง   เรือนร้านค้า  ลักษณะเป็นเรือนในแนวขวางขนานไปกับถนน  มีตั้งแต่ชั้นเดียวไปจนถึงสามชั้น  เรือนร้านค้าของล้านนาในอดีตใช้อิฐและไม้เป็นโครงสร้างหลัก  หากสร้างชั้นเดียวจะเลือกใช้ไม้หรือผนังก่ออิฐก็ได้  แต่ถ้าเป็นเรือนที่มี 2- 3 ชั้นขึ้นไป  ก็จะสร้างชั้นล่างด้วยผนังปูนต่อด้วยชั้นบนสุดเป็นไม้เนื้อแข็ง  เพื่อให้ชั้นล่างสามารถรับน้ำหนักของชั้นบนรวมถึงหลังคาได้  เนื่องจากโครงสร้างเรือนในอดีตใช้วิธีการก่ออิฐหนาเป็นโครงสร้างอาคารแทนการใช้ขื่อคานและการเสริมเหล็กเส้นดังเช่นในปัจจุบัน  ดังนั้นจึงไม่สามารถสร้างเรือนให้มีความสูงเกิน 3  ชั้นได้  ลักษณะเด่นของเรือนร้านค้าจะมีพื้นที่ชั้นล่างรองรับการค้าขายโดยเฉพาะ  มักทำเป็นประตูบานเฟี๊ยมยาวตลอดทั้งแนวของอาคาร  เมื่อเปิดประตูออกมาก็จะเห็นพื้นที่ทั้งหมดของหน้าร้าน  ส่วนพื้นที่ด้านหน้าเรือนชั้นบนนิยมทำเป็นระเบียงยาวตลอดตัวเรือน  ด้านในเรือนก็จะเป็นที่พักอาศัย ในช่วงที่มีการค้าขายไม้ในล้านนา  รูปแบบเรือนร้านค้ามีการตกแต่งด้วยลวดลาย ไม้ฉลุอย่างสวยงามตามรูปแบบอิทธิพลศิลปะตะวันตก  ดังจะเห็นรูปแบบเรือนร้านค้า เช่นนี้ตามเส้นทางสายธุรกิจในอดีต  เช่น  ถนนท่าแพ  ถนนเจริญราษฏ์  จังหวัดเชียงใหม่  ถนนกาดกองต้า  จังหวัดลำปาง  เป็นต้น    เรือนแบบตะวันตก  คือเรือนที่ได้รับรูปแบบโครงสร้างและการตกแต่งมาจากประเทศในแถบตะวันตก  ซึ่งมาพร้อมกับการทำไม้ในล้านนา  เรือนแบบตะวันตกนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มของเจ้านายล้านนา  คหบดี  พ่อค้าคนจีน  รวมถึงกลุ่มคนพม่า-ไทใหญ่ที่ร่ำรวยจากการค้าไม้ในช่วงรัชกาลที่  5  ลักษณะของเรือนสามารถแบ่งออกเป็น  3  รูปแบบใหญ่ๆ  คือ เรือนขนมปังขิง  เป็นชื่อเรียกของเรือนที่ตกแต่งด้วยลวดลายไม้ฉลุตามส่วนต่างๆ  ของเรือน  เช่น  เชิงชายคา  ระเบียง  ช่องลม  เป็นต้น เรือนหลังคาทรงปั้นหยา  เป็นรูปแบบหลังคาที่ไม่มีหน้าจั่ว  หลังคาตามแนวขวางของตัวเรือนจึงมุงกระเบื้องจนเต็มทั้งหมด เรือนหลังคาทรงมะนิลา  มีลักษณะคล้ายกับหลังคาทรงจั่ว  แต่เป็นจั่วสามเหลี่ยมขนาดเล็กต่อด้วยชายหลังคาขนาดใหญ่คลุมลงมาจนถึงตัวเรือน   วัสดุที่ใช้สร้างเรือนแบบตะวันตกมีทั้งไม้และปูนซีเมนต์  ส่วนใหญ่จะใช้ปูนเป็น โครงสร้างและก่อเป็นอาคารทรงตึก  บางหลังก็สร้างจากไม้จริงทั้งหมดพร้อมประดับ ตกแต่งด้วยลวดลายไม้ฉลุ  ลวดลายส่วนใหญ่ได้รับรูปแบบมาจากตะวันตก  มักทำเป็นลาย ดอกไม้  ลายเถาว์  หรือลายหลุยส์  ฯลฯ  การตกแต่งเช่นนี้ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะ แบบวิคตอเรียน  ตามรสนิยมของประเทศอังกฤษ  พื้นที่ใช้สอยภายในตัวอาคารแบ่ง ออกเป็นห้องต่างๆ แยกตามประเภทของการใช้งาน  โดยสร้างตามผังของเรือนตะวันตกที่ มีห้องต่างๆ  เช่น  ห้องนอน  ห้องนั่งเล่น  ห้องรับแขก  ห้องรับประทานอาหาร  เป็นต้น  ซึ่งการแบ่งห้องเช่นนี้เพิ่งจะเปลี่ยนแปลงหลังจากที่รับเอารูปแบบเรือนมาจากตะวันตก
เผยแพร่เมื่อ 3 ธันวาคม 2562 • การดู 21,300 ครั้ง