เรือนล้านนารูปแบบต่างๆ สร้างขึ้นตามลักษณะการใช้พื้นที่ภายในเรือนและฐานะของเจ้าของเรือน โดยเรือนแต่ละแบบต่างก็มีความสอดคล้องกันของวิถีชีวิตประจำวันกับการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่แยกออกจากกันเป็นสัดส่วน ซึ่งเรือนในยุคแรกๆ ของล้านนามักสร้างมาจากไม้ไผ่หรือเป็นเรือนเครื่องผูก จากนั้นก็มีพัฒนาการมาเป็นเรือนที่สร้างจากไม้จริง แล้วนำรูปแบบของเรือนตะวันตกมาผสมผสานในยุคหลัง
ในอดีตการสร้างเรือนขึ้นอยู่กับฐานะของผู้สร้าง หากเป็นคหบดีที่มีฐานะดีจะสร้างเรือนหลังใหญ่ด้วยไม้จริงทั้งหลัง ส่วนชาวบ้านทั่วไปนิยมสร้างเรือนด้วยไม้ไผ่ผสมกับไม้จริง โดยมีโครงสร้างเรือน เช่น เสา ขื่อ แวง เป็นไม้จริง ส่วนฝาและพื้นเรือนทำมาจากไม้ไผ่สับฟาก หากเรียงลำดับตามพัฒนาการของเรือนล้านนา สามารถแบ่งรูปแบบเรือนดังนี้
- เรือนเครื่องผูก เป็นเรือนที่สร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่ ตัวเรือนขนาดเล็ก ดังจะเห็นรูปแบบของเรือนเครื่องผูกนี้ได้ตามภาพจิตรกรรมฝาผนังของล้านนา มีรูปแบบเป็นเรือนจั่วเดียวยกพื้นสูง ในอดีตเรือนเครื่องผูกเป็นเรือนของชาวบ้านทั่วไป ที่สร้างขึ้นกันเองโดยการตัดไม้ไผ่มาประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้างของเรือน แล้วใช้ตอกหรือเส้นหวายยึดให้ติดกัน อาจมีการใช้เสาเรือนด้วยไม้จริงบ้าง แต่โดยรวมแล้วองค์ประกอบของเรือนส่วนใหญ่จะทำมาจากไม้ไผ่ เช่น โครงสร้างหลังคา ฝาและพื้นเรือนที่ทำมาจากไม่สับฟาก นอกจากนั้นเรือนเครื่องผูกยังเหมาะสำหรับคู่แต่งงานที่กำลังเริ่มสร้างครอบครัวใหม่ มักสร้างเป็นเรือนเครื่องผูกแบบชั่วคราวก่อนที่จะเก็บเงินและไม้จริงได้พอเพียงสำหรับขยายเรือนต่อไป
- เรือนไม้จริง เป็นเรือนที่สร้างขึ้นจากไม้เนื้อแข็งทั้งหมด ในล้านนานิยมใช้ไม้สักเพราะหาได้ง่าย มีอายุการใช้งานนาน อีกทั้งเนื้อไม้ไม่แข็งมากนัก จึงสามารถเจาะหรือแต่งรูปไม้ได้ง่าย ขนาดของเรือนขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าของเรือน ซึ่งมักทำเป็นเรือนที่มีทั้งจั่วเดียวและสองจั่ว โดยเรือนที่มีจั่วเดียวจะมีโครงสร้างเช่นเดียวกับเรือนเครื่องผูก เพียงแต่สร้างขึ้นมาจากไม้จริง ตั้งแต่โครงสร้างหลังคาไปจนถึงฝาและพื้นเรือนที่ทำด้วยไม้กระดาน ด้านหน้าเรือนนิยมทำเป็นชานโล่ง แล้วเชื่อมต่อตัวชานกับเรือนด้วยเติ๋น ส่วนเรือนที่สร้างแบบสองจั่วหรือเรือนจั่วแฝด ทางล้านนาเรียกว่า “เรือนสองหลังฮ่วมพื้น” มีการแบ่งพื้นที่การใช้สอยเป็นระเบียบมากขึ้น โดยจั่วที่มีขนาดใหญ่อยู่ทางด้านตะวันออกเป็นเรือนนอน อีกจั่วที่ขนาดเล็กลงมาอยู่ทางด้านตะวันตก เป็นส่วนของเรือนครัวหรือครัวไฟ ใช้เป็นที่ประกอบอาหารและเก็บเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ระหว่างชายหลังคาของเรือนทั้งสองที่มาจรดกันจะสร้าง “ฮ่อมริน” หรือรางรินสำหรับระบายน้ำฝน ส่วนชานก็จะสร้างทั้งด้านหน้าเรือนและหลังเรือน ทั้งนี้หากสมาชิกในครอบครัวมีจำนวนมากก็จะขยายห้องให้กว้างขึ้น โดยใช้พื้นที่ใต้ชายคาของจั่วแฝดทั้งสองเป็นห้องโถงใหญ่ เพื่อเพิ่มบริเวณใช้สอยสำหรับนอนและอยู่อาศัยของสมาชิกทั้งหมด แล้วสร้างเรือนครัวแยกออกมาจากตัวเรือนนอน โดยสร้างระเบียงหรือชานเชื่อมต่อเรือนทั้งหมดเข้าด้วยกัน
ส่วน “เรือนกาแล” ที่เจ้าพญาและคหบดีนิยมสร้างนั้น มีรูปแบบเป็นเรือนจั่ว
แฝดขนาดใหญ่เช่นเดียวกันกับเรือนสองหลังฮ่วมพื้น เพียงแต่เพิ่ม “กาแล” ติดไว้บน
ยอดจั่วหลังคา มีลักษณะเป็นแผ่นไม้รูปกากบาทแกะสลักด้วยลวดลายที่สวยงาม เชื่อว่า
รูปแบบของเรือนกาแลนี้มีพัฒนาการมาจากเรือนของกลุ่มชาวลัวะที่ใช้ไม้ไผ่วางไขว้กัน
เหนือยอดจั่วเรือน
ในช่วง 100-80 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านทั่วไปนิยมสร้างเรือนด้วยไม้จริงมากขึ้น จึง
เกิดรูปแบบเรือนที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เรียกว่า “เรือนพื้นถิ่น”
เป็นเรือนที่มีการผสมผสานกันของรูปแบบเรือนโบราณล้านนากับเรือนของกลุ่มชาติพันธุ์
ต่างๆ ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในดินแดนล้านนา เช่น ไทลื้อ ไทเขิน ไทยอง จึงทำให้
เรือนในยุคนี้มีความหลากหลายทั้งรูปแบบผังเรือนและการตกแต่ง ทั้งยังเกิดพัฒนาการ
ของการจัดสรรพื้นที่ใช้สอยภายในตัวเรือนให้เป็นสัดส่วนมากขึ้น
ลักษณะของเรือนกาแล ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของล้านนา เนื่องจากเป็น
เรือนที่นิยมสร้างกันมากในกลุ่มคนยวนล้านนา โดยมีพื้นที่ใช้สอยสัมพันธ์กับวิถี
ชีวิตประจำวันและคติความเชื่อ ซึ่งแบ่งออกเป็นพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
- เรือนนอน อยู่ด้านตะวันออก เป็นห้องนอนขนาดใหญ่ห้องเดียวยาวตลอดตัวเรือน แต่จะแบ่งออกเป็นห้องเล็กๆ ให้กับลูก โดยใช้ผ้ากั้งหรือผ้าม่านขึงไว้ตามช่วงเสา การนอนต้องหันศีรษะไปทางทิศตะวันออก บริเวณฝาผนังด้านปลายเท้าเป็นที่วางหีบหรือซ้าสำหรับใส่เสื้อผ้าหรือของใช้ส่วนตัว และมี “แป้นต้อง” ที่ทำจากไม้กระดานวางเป็นแนวยาวตลอดตัวเรือน เพื่อเป็นทางเดินออกไปด้านนอกห้องนอนโดยเกิดเสียงดังรบกวนผู้อื่น บริเวณหัวเสาเอกหรือเสาพญามี “หิ้งผีเรือน”เป็นชั้นไม้ ใช้วางของสักการะ
- เรือนไฟหรือเรือนครัว ใช้เป็นพื้นที่ประกอบอาหารและเก็บของใช้ต่างๆ ในอดีตมีเตาไฟเป็นก้อนหินสามเส้าวางบนกระบะสี่เหลี่ยม ต่อมาจึงใช้เตาอั้งโล่แทน เหนือเตาไฟมีชั้นวางของทำมาจากไม้ไผ่สานโปร่งๆ ใช้วางเครื่องใช้ประเภทงานจักสานและเก็บเครื่องปรุง จำพวกหอม กระเทียม ฯลฯ จะช่วยป้องกันมอด แมลงต่างๆ ได้ ฝาผนังของเรือนครัวจะทำแบบห่างๆ หรือทำเป็นไม้ระแนงเพื่อช่วยระบายอากาศจากควันไฟ
- เติ๋น เชื่อมต่อกับชานด้านหน้าของตัวเรือน โดยยกพื้นสูงขึ้นจากระดับพื้นชานให้พอนั่งพักเท้าได้ เป็นพื้นที่กึ่งอเนกประสงค์มีผนังปิดเพียงด้านที่ติดกับห้องนอน ใช้สำหรับอยู่อาศัยในช่วงกลางวัน เช่น ทำงานจักสาน นั่งเล่น รวมถึงใช้เป็นที่รับแขก บริเวณฝาเรือนด้านตะวันออกมีหิ้งพระสำหรับสักการะบูชา
- ชาน เป็นพื้นที่เปิดโล่งอยู่ทางด้านหน้าเรือนเชื่อมกับบันไดทางขึ้น บริเวณขอบชานด้านที่ติดกับเติ๋นมี “ฮ้านน้ำ” สร้างเป็นชั้นไว้เป็นที่วางหม้อน้ำดื่ม หากเป็นชานด้านหลังเรือนจะเชื่อมกับเรือนครัว ใช้เป็นที่ซักล้างและวางภาชนะต่างๆ
- ใต้ถุนเรือน ชาวล้านนาจะไม่นิยมอยู่อาศัยใต้ถุนเรือน เพราะบริเวณนี้เป็นที่เก็บเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ และเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ส่วนห้องน้ำก็จะสร้างแยกออกมาจากตัวเรือน มักอยู่ด้านหลังเรือนใกล้กับทางขึ้นบันไดหลัง
- เรือนร้านค้า ลักษณะเป็นเรือนในแนวขวางขนานไปกับถนน มีตั้งแต่ชั้นเดียวไปจนถึงสามชั้น เรือนร้านค้าของล้านนาในอดีตใช้อิฐและไม้เป็นโครงสร้างหลัก หากสร้างชั้นเดียวจะเลือกใช้ไม้หรือผนังก่ออิฐก็ได้ แต่ถ้าเป็นเรือนที่มี 2- 3 ชั้นขึ้นไป ก็จะสร้างชั้นล่างด้วยผนังปูนต่อด้วยชั้นบนสุดเป็นไม้เนื้อแข็ง เพื่อให้ชั้นล่างสามารถรับน้ำหนักของชั้นบนรวมถึงหลังคาได้ เนื่องจากโครงสร้างเรือนในอดีตใช้วิธีการก่ออิฐหนาเป็นโครงสร้างอาคารแทนการใช้ขื่อคานและการเสริมเหล็กเส้นดังเช่นในปัจจุบัน ดังนั้นจึงไม่สามารถสร้างเรือนให้มีความสูงเกิน 3 ชั้นได้ ลักษณะเด่นของเรือนร้านค้าจะมีพื้นที่ชั้นล่างรองรับการค้าขายโดยเฉพาะ มักทำเป็นประตูบานเฟี๊ยมยาวตลอดทั้งแนวของอาคาร เมื่อเปิดประตูออกมาก็จะเห็นพื้นที่ทั้งหมดของหน้าร้าน ส่วนพื้นที่ด้านหน้าเรือนชั้นบนนิยมทำเป็นระเบียงยาวตลอดตัวเรือน ด้านในเรือนก็จะเป็นที่พักอาศัย
ในช่วงที่มีการค้าขายไม้ในล้านนา รูปแบบเรือนร้านค้ามีการตกแต่งด้วยลวดลาย
ไม้ฉลุอย่างสวยงามตามรูปแบบอิทธิพลศิลปะตะวันตก ดังจะเห็นรูปแบบเรือนร้านค้า
เช่นนี้ตามเส้นทางสายธุรกิจในอดีต เช่น ถนนท่าแพ ถนนเจริญราษฏ์ จังหวัดเชียงใหม่
ถนนกาดกองต้า จังหวัดลำปาง เป็นต้น
- เรือนแบบตะวันตก คือเรือนที่ได้รับรูปแบบโครงสร้างและการตกแต่งมาจากประเทศในแถบตะวันตก ซึ่งมาพร้อมกับการทำไม้ในล้านนา เรือนแบบตะวันตกนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มของเจ้านายล้านนา คหบดี พ่อค้าคนจีน รวมถึงกลุ่มคนพม่า-ไทใหญ่ที่ร่ำรวยจากการค้าไม้ในช่วงรัชกาลที่ 5 ลักษณะของเรือนสามารถแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบใหญ่ๆ คือ
- เรือนขนมปังขิง เป็นชื่อเรียกของเรือนที่ตกแต่งด้วยลวดลายไม้ฉลุตามส่วนต่างๆ ของเรือน เช่น เชิงชายคา ระเบียง ช่องลม เป็นต้น
- เรือนหลังคาทรงปั้นหยา เป็นรูปแบบหลังคาที่ไม่มีหน้าจั่ว หลังคาตามแนวขวางของตัวเรือนจึงมุงกระเบื้องจนเต็มทั้งหมด
- เรือนหลังคาทรงมะนิลา มีลักษณะคล้ายกับหลังคาทรงจั่ว แต่เป็นจั่วสามเหลี่ยมขนาดเล็กต่อด้วยชายหลังคาขนาดใหญ่คลุมลงมาจนถึงตัวเรือน
วัสดุที่ใช้สร้างเรือนแบบตะวันตกมีทั้งไม้และปูนซีเมนต์ ส่วนใหญ่จะใช้ปูนเป็น
โครงสร้างและก่อเป็นอาคารทรงตึก บางหลังก็สร้างจากไม้จริงทั้งหมดพร้อมประดับ
ตกแต่งด้วยลวดลายไม้ฉลุ ลวดลายส่วนใหญ่ได้รับรูปแบบมาจากตะวันตก มักทำเป็นลาย
ดอกไม้ ลายเถาว์ หรือลายหลุยส์ ฯลฯ การตกแต่งเช่นนี้ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะ
แบบวิคตอเรียน ตามรสนิยมของประเทศอังกฤษ พื้นที่ใช้สอยภายในตัวอาคารแบ่ง
ออกเป็นห้องต่างๆ แยกตามประเภทของการใช้งาน โดยสร้างตามผังของเรือนตะวันตกที่
มีห้องต่างๆ เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร เป็นต้น
ซึ่งการแบ่งห้องเช่นนี้เพิ่งจะเปลี่ยนแปลงหลังจากที่รับเอารูปแบบเรือนมาจากตะวันตก