สภาพภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
สภาพสิ่งแวดล้อมมีผลต่อวิถีชีวิตของคนแต่ละพื้นที่เป็นอย่างมาก ในท้องถิ่นต่างๆ มักรู้จัก การประยุกต์ใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในบริเวณนั้นให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งต้องสอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์สิ่งแวดล้อมในที่ตั้งถิ่นฐานนั้นด้วย ถือเป็นการกลั่นกรองทางด้านความคิด ภูมิปัญญา และการปรับตัวให้สอดคล้องเหมาะสมกับท้องถิ่นที่อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี
คำว่า บ้านและเรือน ในความหมายของชาวล้านนาในอดีตมีความหมายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะ “บ้าน” จะหมายถึง “หมู่บ้าน” ที่มีการกำหนดอาณาเขต ทำเลที่ตั้งของเรือนที่ตั้งอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ส่วนคำว่า “เรือน” คือ “อาคารที่อยู่อาศัย” ของมนุษย์ ในแต่ละหมู่บ้านต่างก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามลักษณะภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อม เช่น การตั้งชื่อหมู่บ้านตามแหล่งน้ำที่มี ห้วย หนอง ท่า สบ การตั้งชื่อหมู่บ้านบริเวณ โคก สัน ดอย หลิ่ง การตั้งชื่อตามพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่มีในแถบนั้น เช่น บ้านขี้เหล็ก บ้านสันคะยอม บ้านสันผักหวาน ท่าส้มป่อย หรือบางครั้งอาจตั้งชื่อหมู่บ้านตามประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าและตำนาน เช่นบ้านนางเหลียว ตั้งชื่อตามเหตุการณ์ที่นางจามเทวีเหลียวหลังกลับไป เป็นต้น
เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของล้านนาตั้งอยู่ทางตอนปลายของแนวเทือกเขาที่ทอดลงมาจากประเทศจีน ทำให้มีพื้นที่ราบสลับกับเทือกเขาสูง ดังนั้นการตั้งถิ่นฐานของชาวล้านนาจึงขึ้นอยู่กับบริเวณที่มีดินและน้ำอุดมสมบูรณ์ ซึ่งมักสร้างเมืองตาม “ แอ่ง” ใหญ่ๆ เช่น แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน แอ่งลำปาง เป็นต้น แอ่งเหล่านี้ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขา มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่และมีแม่น้ำไหลผ่าน ซึ่งการเกิดขึ้นของเมืองก็จะกระจุกตัวอยู่ตามเส้นทางแม่น้ำสายหลัก และแม่น้ำสาขา เพื่อใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคตลอดจนใช้ในการเพาะปลูก