5 ชนิดไม้ ที่คนล้านนานิยมนำมาทำเป็นที่อยู่อาศัย ทั้งโครงสร้าง หลังคา แป้นเกล็ด คาน ตง พื้น ฝา ประตู หน้าต่าง
.
ไม้ 5 ชนิดนี้ สล่า(ช่าง)ที่เป็นคนชำนาญในการปรุงเรือน แค่ดูลายก็จะสามารถจำแนกได้แล้วว่าเป็นชนิดใด หลังจากที่แปรรูปมาแล้ว แต่สล่า(ช่าง) ที่มีความชำนาญไปอีก ในกรณีที่ไม้ถูปแปรรูปนานแล้วเกิดคราบตะไคร่ขึ้น ดำ จำแนกด้วยสายตาแล้วยังยาก จะมีอีกวิธีในการจำแนกคือการดมกลิ่นของไม้ ทั้ง 5 ชนิด ที่อยู่ในภูมิประเทศของล้านนา แล้วก็อยู่ในวัฒนธรรมการใช้สอยของคนล้านนามาเนิ่นนาน ซึ่งเชื่อว่ามากกว่าพันปี ก็คือไม้สัก ไม้ประดู่ป่า ไม้แดง ไม้เต็ง(ไม้แงะ) ไม้รัง (ไม้เปา)
ไม้สัก
(ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tectona grandis Linn F.)
เป็นต้นไม้ท้องถิ่นล้านนาอยู่ในเบญจพรรณ เนื้อไม้มีความแข็งปานกลาง 493 กิโลกรัม คนล้านนาในอดีตนิยมนำมาทพโครงสร้างหลังคา กระเบื้องแป้นเกล็ดมุงหลังคา ทำพื้น ทำผนัง ประตู หน้าต่าง เนื่องจากเนื้อไม้มีความทนทานมอดแมลงไม่กิน เลื่อยไสตกแต่งได้ง่าย เนื้อไม้มีความสวยงาม มีกลิ่นหอม
ไม้ประดู่ป่า
(ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterocarpus macrocarpus Kurz)
เป็นต้นไม้ท้องถิ่นแผ่นดินล้านนาอยู่ในป่าเบญจพรรณ เนื้อไม้ประดู่ป่า มีความแข็งมาก 926 กิโลกรัม มีลวดลายสวยงามสีออกแดงปนส้ม คนล้านนาในอดีตนิยมนำมาทำเสาเรือน โครงสร้างพื้น แวง(คาน) ตง และแปรรูปเป็นแผ่นทำเป็นพื้นกระดานเรือน เนื่องจากมีลายไม้ที่สวยงาม บางทีก็นำไปทำวงกบประตูหน้าต่างด้วย
ไม้เต็ง (แงะ)
(ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea obtuse wall)
เป็นไม้ท้องถิ่นในแผ่นดินล้านนา ขึ้นอยู่ตามป่าเต็ง-รัง (ป่าแพะ) เป็นไม้เนื้อแข็ง 964 กิโลกรัม คนล้านนาในอดีตนิยมนำมาทำเสาเรือน เนื่องจากไม้มีความแข็งแรง ทนทาน มอดและแมลงไม่รบกวน
ไม้แดง
(ชื่อวิทยาศาสตร์ : Xylia xylocarpa Taub)
เป็นต้นไม้ท้องถิ่นในแผ่นดินล้านนา ขึ้นอยู่ตามป่าเบญจพรรณ เป็นไม้เนื้อแข็ง มีความแข็ง 1,030 กิโลกรัม มีลวดลายสวยงาม สีแดงคล้ำๆ คนล้านนานิยมนำมาทำเสาเรือน โครงสร้างพื้น แวง(คาน) ตงและแปรรูปทำเป็นกระดานพื้นเรือน เมื่อใช้ไปนานๆ จะมันแวววาวน่าสัมผัส และมีความคงทน มอดแมลงไม่รบกวน
ไม้รัง
(ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea siamensis Miq)
เป็นไม้ท้องถิ่นในแผ่นดินล้านนา ขึ้นอยู่ในป่าเต็ง-รัง (ป่าแพะ) เนื้อไม้มีความแข็ง 755 กิโลกรัม สามารถเลื่อย ไสตกแต่งง่าย ลื่นมือตอนทำการแปรรูป คนล้านนาในอดีต นิยมนำมาทำเป็นเสาเรือน โครงสร้างพื้นเรือน แวง(คาน) ตง เนื่องจากมีความแข็งและเหนียวทนทาน
สามารถเข้าชมนิทรรศการภูมิปัญญาสล่าสร้างเรือน
ณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่