ประเพณีสิบสองเป็ง เดือน 12 ออก 15 ค่ำ เสาร์ที่ 10 กันยายน 2565
ตำนาน
ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารมีพระราชศรัทธาในพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ได้สดับ
พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าจนบรรลุธรรมขั้นโสดาปัตติผล ทรงถวายไทยธรรมแด่พระพุทธเจ้า
และพระสาวกเป็นประจำ แต่ไม่เคยอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับครั้งหนึ่งฝูงเปรตผู้เป็นญาติรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้รับส่วนกุศล วันหนึ่งพอตกเพลาราตรีก็สำแดงกายส่งเสียงร้องโหยหวนเป็นที่น่าสะพรึงกลัวตลอดราตรีนั้น เหตุการณ์นี้พระเจ้าพิมพิสารมิทราบเหตุจึงทรงทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็ทรงสำแดงเหตุให้ทราบตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าพิมพิสารก็อุทิศส่วนกุศลให้ทุกครั้งเมื่อถวายไทยธรรม โดยผ่านการหลั่งน้ำทักษิโณทก เปรตทั้งหลายได้รับแล้วพ้นจากทุกขภาวะนา
ที่มา และความหมาย
ประเพณีสิบสองเป็งเป็นประเพณีทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ที่ล่วงลับในวันเพ็ญเดือนสิบสองเหนือ หรือเดือนสิบของภาคกลางโดยเฉพาะ โดยเชื่อกันว่า ในวันดังกล่าวพญายมราชได้ปลดปล่อยวิญญาณของผู้ตายให้กลับมาสู่โลกมนุษย์เพื่อรับเอาส่วนกุศลผลบุญจากญาติพี่น้อง ดังนั้นจึงนิยมไปทำบุญที่วัดอย่างมากมายเป็นกรณีพิเศษ ประเพณีนี้ตรงกับกิจกรรมของไทยภาคอื่น กล่าวคือภาคกลางมีประเพณีที่คล้ายกันเรียกว่า “ตรุษสารท” ภาคใต้เรียกว่า “ประเพณีชิงเปรต”
ส่วนภาคอีสานเรียกว่า “ประเพณีบุญข้าวประดับดิน”
การปฏิบัติในวันสิบสองเป็ง
เช้ามืดของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่วัดจะคราคร่ำไปด้วยผู้คน ต่างคนต่างจัดอาหารและสิ่งของเป็นสำรับ แต่ละสำรับอุทิศให้ผู้ตายเป็นคน ๆ ซึ่งบางครั้งถวายหลายครั้งตามจำนวนคน และการถวายจะต้องเขียนชื่อเจ้าภาพพร้อมชื่อผู้ตายให้พระ
เพราะเวลาพระให้พรจะได้กล่าวชื่อได้ถูกต้อง
นอกจากการทำบุญด้วยอาหารและไทยทานแล้วสิ่งที่นิยมปฏิบัติ คือ นิมนต์พระแสดงพระธรรมเทศนา ประกอบการรับไทยทาน พระธรรมเทศนาดังกล่าว มักเป็นคัมภีร์ที่มีเนื้อหาที่เอื้อต่อการได้รับกุศล เช่น ธรรมเปตพลี ธรรมมาลัยโปรดโลก ธรรมนิพพานสูตรเป็นต้น