2 กันยายน 2022
3.3k
 

ขันหมาก

 

ขันหมาก

เป็นภาชนะสำหรับใส่เครื่องกินหมากที่ประกอบด้วย ยาฉุน หมากแห้ง หมากสด ปูน สีเสียด ใบพลู เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าวัฒนธรรมการกินหมากในเอเชียอาคเนย์รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย และยังคงเป็นที่นิยมจนกระทั่งในปัจจุบัน สมัยก่อนชาวล้านนากินหมากแบบเป็น ของกินเล่น จนกลายเป็นกิจกรรมในสังคม ดังนั้น ทุกครัวเรือนต่างก็มีขันหมากหรือเชี่ยนหมากประจำบ้านและบางครอบครัวอาจมีขันหมากมากกว่าหนึ่งชุด

นอกจากจะมีขันหมากใช้สำหรับชีวิตประจำวันแล้ว ในด้านพิธีกรรมทางความเชื่อหรือทางศาสนา ยังใช้ขันหมากเป็นองค์ประกอบในพิธีสำคัญด้วย เช่น งานบวชพระและงานแต่งงาน เป็นต้น นอกจากนี้ ในการแสดงสถานภาพหรือบรรดาศักดิ์ของชนชั้นสูงต้องมีขันหมากเป็นเครื่องแสดงฐานันดรเช่นเดียวกับขุนนางภาคกลางของไทย เมื่อเจ้านายเดินทางไปที่ใดจำต้องมีขบวนเครื่องยศ ที่แต่ละชิ้นมีพนักงานถือประคองเสมอ ทำให้เกิดขบวนยาวในการเดินทาง และการจัดที่นั่ง ลำดับของขบวนเครื่องยศเริ่มจาก ช่อธงดาบหอกนำหน้าขบวน ตามด้วย ขันหมาก แอ็บยา กระโถน คนโท และเจ้านายนั่งเสลี่ยงคานหามตามมา มีร่มกั้น จากความสำคัญดังกล่าว เป็นผลให้รูปแบบและลวดลายของขันหมากล้านนามีการพัฒนาออกไปอย่างมากมาย

ขันหมากมีโครงไม้ไผ่ขดหรือสาน เคลือบรักและชาด มีขนาดใหญ่มากกว่าเชี่ยนหมากของภูมิภาคอื่นๆ เพราะเป็นภาชนะสำคัญในการต้อนรับแขก อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความมั่งคั่ง มีกินมีใช้ เป็นหน้าตาของผู้เป็นเจ้าของ กล่องตัวขันที่ใหญ่เอื้อสำหรับเก็บใบพลูให้สดได้นาน เพราะอากาศทางล้านนาแห้งกว่าที่อื่นจะทำให้ใบพลูเฉาเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าแล้ง

ขันหมาก เป็นภาชนะทรงกระบอกกว้าง ประกอบด้วยโครงสร้าง ๓ ส่วน คือ ส่วนล่างเรียก ตีนขัน ส่วนกลางเรียกว่า ตัวขันหรือเอวขัน และส่วนบนเป็นถาดซึ่งภาษาถิ่นเรียกว่า ตาด ต่อขอบสูงขึ้นมาเล็กน้อย เรียกว่า ปากขัน แม้จะมีโครงสร้างและรูปทรงรวมใกล้เคียงกัน แต่หลายชุมชนก็มีเอกลักษณ์และความนิยมเฉพาะถิ่น

(ข้อมูลจากหนังสือเครื่องเขินในวัฒนธรรมล้านนา โดยอาจารย์วิถี พานิชพันธ์ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)