9 มิถุนายน 2020
7.2k
 

ความร้อนบำบัดโรค ภูมิปัญญาจากชาวบ้าน

 

ความร้อนบำบัดโรค ภูมิปัญญาจากชาวบ้าน

                นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่า ร่างกายมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันเมื่อตอบสนองต่ออุณหภูมิที่แตกต่างกัน และรู้ว่าความร้อนนั้นจะกระตุ้นภูมิต้านทานให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น เช่น หากร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอมเข้าไป เช่นไวรัสหรือแบคทีเรีย ร่างกายจะกระตุ้นตัวมันเองให้สร้างความร้อนขึ้นมา อุณหภูมิสูงกว่า 37 เซลเซียส จะกระตุ้นกระบวนการของภูมิต้านทานให้ทำงานได้ดีกว่า ดังนั้นการเป็นไข้ เท่ากับการจุดชนวนของปฏิกิริยาของภูมิต้านทาน นับเป็นปฏิกิริยาแบบธรรมชาติแท้ๆ ที่ร่างกายปรับตัวสู้กับเชื้อโรคหรืออาการอักเสบ

                 ในสมัยก่อนที่ยังไม่มียาปฏิชีวนะใช้ คนไทยโบราณมีวิธีใช้ความร้อนเพิ่มภูมิต้านทานให้กับตนเอง ภาคเหนือมีการขางแม่จีไฟ การนั่งดินจี่ ใช้ความร้อนไปกระตุ้นภูมิต้านทานให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

                การอยู่ไฟในภาคเหนือ ในเมื่อการคลอดในสมัยโบราณเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย มีการเสียเลือดมากมาย ทางคลอดเกิดการฉีกขาดเป็นทางเข้าของแบคทีเรีย เกิดการติดเชื้อ พิธีกรรมในการคลอด การอยู่ไฟจึงเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่ผู้หญิงโบราณยึดถือกันอย่างเคร่งครัด สำหรับการอยู่ไฟของภาคเหนือ แม่ก๋ำเดือน จะต้องอยู่เดือนเข้าเส้าอยู่กับความร้อนแต่ในห้องโดยเชื่อว่า เพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ห้ามไม่ให้ออกไปไหน ต้อง ก๋ำกิ๋นคือห้ามกินของแสลงและไม่ให้ได้กลิ่นฉุน เพราะจะทำให้ป่วยเป็นโรค ลมผิดเดือนได้ แต่สำหรับเวลาของการอยู่เดือนคือ ถ้าเป็นลูกสาว ต้องเผื่อกี่เผื่อด้ายแม่ก๋ำเดือนต้องอยู่ไฟ 30 วัน เนื่องจากหากลูกสาวโตขึ้นจะต้องเรียนรู้การปั่นด้าย ทอผ้า ถ้าเป็นลูกชาย ให้อยู่ไฟ 28 วัน ถือเป็นเคล็ดให้หยุดคมหอก คมดาบ จึงจะเห็นได้ว่าร่างกายของเราต้องการระยะเวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อฟื้นสุขภาพตัวเองให้กลับมาแข็งแรงดังเดิม

                การใช้ความร้อนเฉพาะที่ในการรักษาโรค การใช้ความร้อนประคบ เหมาะสำหรับอาการปวดข้อต่างๆ ปวดกล้ามเนื้อ เช่น ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดขา ปวดเข่า ซึ่งการประคบแบบนี้ เป็นการักษาเฉพาะที่

1.การใช้ลูกประคบ เป็นการใช้สมุนไพรพื้นบ้านของไทยหลายๆชนิด มาห่อรวมกันด้วยผ้าขาว เอาลูกประคบ 2 ลูกไปนึ่งให้ชุ่มไอน้ำ แล้วเอาลูกประคบมานวดบริเวณที่ปวด อาศัยความร้อนจากลูกประคบทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย เป็นการบรรเทาปวดที่ได้ผลทันที ความร้อนทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณที่นวดขยายตัว ทำให้ตัวยาสมุนไพรสามารถซึมเข้าไปในร่างกายมากขึ้น อาการอักเสบจะลดลง

2.การใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อนสลับเย็นประคบ เป็นการใช้ความร้อนประคบเฉพาะที่ปวด ที่อักเสบเรื้อรัง โดยไม่ได้ใช้สมุนไพร การประคบร้อนวิธีนี้ จะเรียกเอาเลือดมาเอ่ออยู่ในบริเวณนั้น เป็นการเอาความร้อนไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้ทำงานมากขึ้น อาการอักเสบและอาการปวดแทบจะลดลงทันที ส่วนการประคบเย็นจะทำให้หลอดเลือดบีบตัวไล่เลือดเก่าที่คั่งอยู่บริเวณนั้นกลับสู่ส่วนกลาว เพื่อเอาขยะและพิษจากการอักเสบไปกำจัดทิ้ง

3.การนวดย่ำข่าง เป็นวิธีการบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บแบบพื้นบ้านล้านนาอีกประเภทหนึ่ง โดยมากใช้สำหรับบำบัดหรือรักษาอาการเจ็บปวดตามร่างกาย โดยใช้เท้าชุบน้ำยา (น้ำไพลหรือน้ำมันงา) แล้วไปย่ำลงบนขางที่เผาไฟจนร้อนแดง แล้วจึงไปย่ำบนร่างกายหรืออวัยวะของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด

 

ข้อมูลจาก : พญ.ลลิตา ธีระสิริ

รูปภาพจาก : https://jobschiangrai.com