ดาราอั้ง
ดาราอั้ง หรือที่ชาวไทใหญ่เรียก “ปะหล่อง” เป็นชนเผ่าที่มีที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนดอยสูง กระจัดกระจายอยู่บริเวณรัฐฉาน รัฐคะฉิ่น สหภาพพม่า และมณฑลยูนนาน ประเทศจีน แต่ด้วยภัยสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า ช่วงปี พ.ศ. 2511 – 2527 ชาวดาราอั้งจำนวนมากต้องข้ามน้ำสาละวินลัดเลาะจากเชียงตอง เมืองปั่น ในเขตเชียงตุง มายังฝั่งประเทศไทย มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อาศัยบริเวณบ้านนอแล บ้านห้วยเลี้ยม บ้านแคะนุ ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้กับพื้นที่รับผิดชอบของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง และส่วนหนึ่งจัดให้อยู่ บ้านปางแดง บ้านแม่จร บ้านห้วยโป่ง อำเภอเชียงดาว บ้านห้วยหวาย บ้านห้วยทรายขาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และบ้านสันต้นปุย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในส่วนของเรือนที่อยู่อาศัย ชาวดาราอั้งนิยมสร้างเรือนด้วยเสาไม้ ฟากและฝาเป็นไม้ไผ่สับ เป็นเรือนยกพื้นสูง ขึ้นอยู่กับความลาดชันบนไหล่เขา และหลังคามุงด้วยหญ้าคา ดำรงชีพด้วยการทำเกษตรกรรมปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด และเลี้ยงสัตว์
ชาวดาราอั้งมีภาษาพูดเป็นของตนเอง คือ ภาษาดาราอั้ง จัดอยู่ในกลุ่มภาษาปะหล่อง – วะ แต่โดยทั่วไปแล้วชาวดาราอั้งสามารถพูดภาษาไทยใหญ่ได้ เนื่องจากถิ่นฐานเดิมอยู่ใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มไทใหญ่ ชาวดาราอั้งมีชีวิตที่ค่อนข้างสงบและเรียบง่าย ด้วยเพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับความเชื่อเรื่องผีอันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของบรรพบุรุษ
สตรีชาวดาราอั้งนิยมสวมเสื้อแขนกระบอก ผ่าหน้า เอวลอย สีสันสดใส ส่วนมากนิยมสีดำ น้ำเงิน เขียว และม่วง ในส่วนของสาบเสื้อเย็บด้วยผ้าสีแดง ตกแต่งด้วยเลื่อมและลูกปัดหลากสี นุ่งซิ่นลายขวางสีแดงสลับลายริ้วขาวเส้นเล็ก ๆ ผืนยาวกรอมเท้า เคียนหัวด้วยผ้าพื้นสีขาว และที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น คือ การสวมเอวด้วยวงหวาย บางคนก็ใช้โลหะสีเงินหรือทองตัดเป็นแถบยาวตอกลาย แล้วขดเป็นวง สวมใส่ปนกัน เรียกว่า “หน่องว่อง” สำหรับบุรุษชาวดาราอั้งนิยมสวมเสื้อแขนยาวสีขาว กางเกงสะดอหรือกางเกงเซี่ยมสีน้ำเงิน เคียนหัวด้วยผ้าพื้นสีขาว และที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น คือ การแกะฟันและฝังด้วยทองคำหรืออัญมณี ถือดาบ สะพายย่าม สูบกล้องยาสูบ
ฐาปนีย์ เครือระยา
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่