15 เมษายน 2020
17.1k
 

ไทใหญ่

 

ไทใหญ่

มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่รัฐฉาน สหภาพพม่า  เรียกตัวเองว่า “คนไต” แต่ชาวล้านนาทั่วไปมักเรียกว่า  “เงี้ยว”  โดยมีเมืองหลวงที่ถือเป็นศูนย์กลาง คือ เมืองตองจีหรือตองกี   นอกจากนั้นยังมีชาวไทใหญ่ส่วนหนึ่งที่อพยพมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย  เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงราย และอำเภอเชียงดาว  อำเภอเวียงแหง  ทางตอนเหนือของจังหวัดเชียงใหม่  ทั้งนี้ยังมีกลุ่มชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนาน  สาธารณรัฐประชาชนจีน  เช่น  เมืองมาว  เมืองวัน  เมืองหล้า  เมืองขอน  เป็นต้น  และบางส่วนของรัฐอัสสัม  ประเทศอินเดีย  โดยเฉพาะที่ตำบลซ้างปานี  แขวงเมืองสิพพสาครและอรุณาจลประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาทั้งสิ้น ชาวไทใหญ่นินมสร้างเรือนใต้ถุนเตี้ย หลังคาจั่วเดียว หากเป็นครัวครอบใหญ่นิยมสร้างเป็นหลังคาสองจั่ว และมักประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการค้าขาย

ไทใหญ่มีภาษา การดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม โดดเด่นแตกต่างออกไปจากชาวไทลื้อ และชาวไทยวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนับถือพุทธศาสนาควบคู่กับภูตผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีวิธีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเทวดาและผีเสื้อบ้านเสื้อเมือง  และยึดถือในการทำบุญแต่ละประเพณีเป็นอย่างมาก  ดังประโยคที่กล่าวไว้ว่า  “กินอย่างม่าน  ตานอย่างไต”  ที่หมายถึงชาวไทใหญ่จะนิยมการทำบุญทำทานมาก   
          สตรีชาวไทใหญ่นิยมสวมเสื้อแซค เป็นเสื้อเนื้อบางแขนยาวหรือสามส่วน ป้ายสาบเสื้อทับไปทางขวาโดยใช้กระดุมผ้าหรือกระดุมโลหะสอดยึดห่วง นุ่งซิ่นเนื้อบาง เช่น ซิ่นก้อง ซิ่นส่วยต้อง ซิ่นปะล่อง ซิ้นหล้าย ซิ่นฮายย่า ซิ่นถุงจ้าบ และซิ่นปาเต๊ะ  ทรงผมเกล้ามวยตามอายุ เช่น หากเป็นเด็กมักปล่อยหน้าม้า เมื่อเจริญวัยจึงเกล้ามวยผมไว้กลางกระหม่อมที่เรียกว่า “สะต๊อก” พอแต่งงานและเริ่มสูงวัยขึ้นจึงทำผมทรงเกล้าป้าด เกล้าขัดแก้ง และเกล้า จ็อกตามอายุ  ส่วนบุรุษนิยมสวมเสื้อเเซคหรือเสื้อแต้กปุ่ง เป็นเสื้อแขนยาว คอกลม กระดุมผ่าหน้า มีกระเป๋าเสื้อ            นุ่งกางเกงสะดอเรียกว่า “ก๋นไต หรือ โก๋นโห่งโย่ง” มัดเอวและเคียนหัวด้วยผ้าสีอ่อน เช่น สีขาว ชมพู หรือเหลือง

 

ฐาปนีย์ เครือระยา

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่