บ่าลิดไม้ หรือ บ่าลิ้นไม้ หรือ ลิ้นฟ้า บางครั้งใช้คำว่า”ฝัก”แทนคำว่า “บ่า” เช่น ฝักลิดไม้ ฝักลิ้นฟ้า ตรงกับภาษาไทยกลางเรียกว่า เพกา เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 4 - 12 เมตร เปลือกลำต้นสีเทาเรียบแตกเป็นร่องตื้นๆ ลำต้นและกิ่งมีรอยแตกเป็นช่องอากาศ “ใบ”เป็นใบประกอบแบบขนนกสามชั้น มีใบยอ่ย 5 ใบ รูปไข่ ปลายแหลม โคนใบสอบเข้าและเบี้ยว “ดอก”ออกตรงปลายยอด เป็นช่อที่มีขนาดใหญ่ ก้านช่อดอกยาว 1 - 2 เมตร จะบานพร้อมกันครั้งละ 2 - 3 ดอกเท่านั้น
ส่วนของบ่าลิดไม้ที่ใช้เป็นอาหาร ได้แก่ ฝักอ่อน โดยนำไปเฝา ไฟให้ไหม้เกรียม และขูดผิวที่ไหม้ไฟออก หั่นแล้วใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก เช่น น้ำพริกปลา หรือ ลาบวัว ลาบควายหรือหั่นฝอยใช้ผัดร่วมกับหน่อไม้ จะมีรสขมแต่ลำขนาด ดอกบ่าลิดไม้ลวกกินกับน้ำพริก ยำใส่ไข่ หรือนำไปใส่เครื่องปรุงแล้วห่อใบตองปิ้งไฟ เรียกแอ็บดอกบ่าลิดไม้ ส่วน”ลำต้น”นั้นใช้ทำลาบวัว ลาบควาย ซึ่งถ้าเป็นเนื้อที่ค้างคืนจะช่วยให้เนื้อจับกัน ไม่เละ และช่วยชูรสอีกเสียด้วย
ประโยชน์ทางสมุนไพร คือเปลือกต้นลิดไม้ที่มีรสฝาด เย็นและขมเล็กน้อย เป็นยาสมานแผล ดับพิษ ส่วน”ราก”ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ ทำให้เกิดน้ำย่อยอาหาร “ผล”เป็นฝักรูปร่างแบนยาวคล้ายดาบ ปลายฝักเรียวแหลมห้อยลง
บ่าลิดไม้ จะออกดอกเดือนมิถุนายน-ธันวาคม และออกผลเดือนสิงหาคม-กุมภาพันธ์ เป็นพืชที่มักพบในป่าผสมผลัดใบ ป่าแดง ป่าทุ่งและบริเวณไร่สวน
(ข้อมูลจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม ๑๑)